posttoday

กรุงไทยเบรกไม่อยู่เอ็นพีแอลไหลต่อ

07 มิถุนายน 2561

กรุงไทยคุยไตรมาส 2 สินเชื่อเด้ง มั่นใจทั้งปีโต 6-7% ด้านหนี้เสียยังปรับเพิ่มไม่หยุด

กรุงไทยคุยไตรมาส 2 สินเชื่อเด้ง มั่นใจทั้งปีโต 6-7% ด้านหนี้เสียยังปรับเพิ่มไม่หยุด

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารในปีนี้มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่ไตรมาสแรกของปี 2561 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.33% โดยสาเหตุที่ยังเพิ่มขึ้นมาจากลูกหนี้เก่าในกลุ่มเกษตรกร ทั้งโรงสี ลานมันสำปะหลัง ยังคงมีการทยอยผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม ทำให้ธนาคารอาจต้องตัดสินใจตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น แต่ยังมั่นใจว่าอัตรา เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมในปีนี้จะสามารถควบคุมไม่ให้เกิน 5% ได้

อย่างไรก็ตาม ในด้านการปล่อย สินเชื่อของธนาคารมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2561 สินเชื่อจะฟื้นตัวกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ หลังจากไตรมาสแรกการปล่อยสินเชื่อขยายตัวติดลบ 0.51% โดยสินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีคือกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ก็มีสัญญาณขยายตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจ เป็นส่วนผลักดันให้การปล่อยสินเชื่อรวมในปีนี้จะขยายตัว 6-7% ตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้

สำหรับปัจจัยบวก การปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 4.8% และมีการคาดกันว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 4.5% ขณะเดียวกันยังได้รับสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันปล่อยกู้ให้ลูกค้าเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ช่วยลดความเสี่ยง ทำให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปล่อยกู้ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย พร้อมปล่อยกู้โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลเป็นหลัก จากเดิมใช้หลักประกันเป็นหลัก โดยระบบการปล่อยสินเชื่อได้นำเทคโนโลยีมาใช้หลายส่วน เช่น การกำหนดรูปแบบของสินเชื่อ การประเมินความเสี่ยง เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง ลูกหนี้ที่เสี่ยงต่ำก็จะได้รับดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่จัดรูปแบบปล่อยกู้แบบเหมารวม (One Size Fit All) เมื่อให้ดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ ธนาคารก็จะปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

"แนวโน้มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมน้อยลง จึงต้องปรับกลยุทธ์หันมาปล่อยกู้ให้มี รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนการพัฒนาดิจิทัลอาจทำให้สูญเสียรายได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะลดต้นทุนการบริหารจัดการของธนาคารได้" นายผยง กล่าว