posttoday

"Money we can" จับคู่นักลงทุน-คนอยากกู้ ติดปีกให้ SME ไทย

03 พฤษภาคม 2561

"Moneywecan" สตาร์ทอัพที่เชื่อมต่อนักลงทุนกับผู้กู้เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย

"Moneywecan" สตาร์ทอัพที่เชื่อมต่อนักลงทุนกับผู้กู้เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย

******************

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

โอกาสทางธุรกิจที่เล็งเห็นจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ SME หรือ วิสาหกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดย่อม ทำให้ พงศ์ธร เลาหะวิไลย ตัดสินใจก่อตั้งธุรกิจให้บริการการกู้ยืมเงินในระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์หรือที่เรียกว่า Peer-to-Business (P2B) ภายใต้ชื่อ Money we can

“เราทำสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำในประเทศไทย น่าจะเป็นโอกาสที่ดีและสามารถไปต่อได้ไกล เหมือนในต่างประเทศทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก” ชายหนุ่มวัย 28 ปีพูดถึงนวัตกรรมที่เปิดตัวเมื่อปี 2017 โดยหวังเพิ่มโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SME รวมถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่นักลงทุน

Peer-to-Business โมเดลยกระดับ SME

พงศ์ธร ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Money we can อธิบายว่า ระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์เป็นการเชื่อมต่อให้ผู้กู้ที่มีศักยภาพสามารถกู้เงินโดยตรงกับนักลงทุนได้ง่ายและมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคารหรือสถาบันการเงิน ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็ได้รับอัตราผลตอบแทนที่จูงใจมากขึ้น

“การกู้ยืมเงินบนแพลทฟอร์ม P2B ผู้ระดมทุน หรือ ผู้กู้ และผู้ลงทุนจะได้รับเงื่อนไขชัดเจน เกี่ยวกับวันในการเริ่มและสิ้นสุดการชำระหนี้และผลตอบแทน ในขณะที่การระดมทุนไม่ระบุวันที่ชัดเจน โดยอาจกำหนดว่าการคืนเงินและผลตอบแทนจะทำได้เมื่อธุรกิจสามารถทำกำไรสะสมได้เท่าไหร่หรือจ่ายให้ในช่วงใดของปี เป็นต้น

ในฐานะผู้ให้บริการแพลทฟอร์ม online P2B “Money we can” มีนักลงทุนในระบบที่พร้อมลงทุนให้กับ SME ที่ตนเองสนใจ เช่นเดียวกันบนแพลทฟอร์มจะมี SME ที่ผ่านการประเมินความน่าเชื่อถือ (Credit scoring) และผ่านการตรวจสอบตามเงื่อนไขการเป็นผู้กู้ที่ดีขึ้นแสดงบนแพลทฟอร์มเพื่อทำการระดมทุน

การทำงานของธุรกรรมดังกล่าวพูดง่ายๆ ว่า ผู้ขอสินเชื่อหนึ่งรายจะมีผู้ให้กู้ร่วมหรือนักลงทุนได้หลายราย และในขณะเดียวกันนักลงทุนหนึ่งรายสามารถกระจายการปล่อยกู้ได้ไม่จำกัดจำนวน จึงเป็นที่มาของคำว่า “Peer to Peer” Lending (P2P) หรือระบบสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือหากเป็นระหว่าง บุคคลกับธุรกิจก็จะเรียกว่า Peer-to-Business (P2B) นั่นเอง

"Money we can" จับคู่นักลงทุน-คนอยากกู้ ติดปีกให้ SME ไทย https://www.moneywecan.com/

เข้าถึงง่าย – ผลตอบแทนสูง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ปี พ.ศ. 2559 ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อมมีจำนวนมากถึง 2,989,378 ราย รองลงมาคือวิสาหกิจขนาดกลาง มีจำนวนเท่ากับ 15,301 ราย โดยจำนวนการจ้างงานจากวิสาหกิจขนาดย่อมเท่ากับ 10,653,656 คน คิดเป็น 72% จากจำนวนการจ้างงานทั้งหมด และในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่มีการจ้างงานเท่ากับ 3,032,908 หรือประมาณ 7.4% และ 1,192,108 ตามลำดับ

นอกจากตัวแปรดังกล่าวแล้วยังพบว่าในปี 2559 GDP ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีมูลค่าเท่ากับ 6,061,143 ล้านบาท หรือประมาณ 42.2% ของสัดส่วน GDP ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ของ SME คือ “การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน” ผู้ประกอบการต้องเผชิญอุปสรรคในเงื่อนไขการอนุมัติแหล่งเงิน ที่ยังขาดความยืดหยุ่น และความจำเป็นในการเข้าเงื่อนไขหลายข้อของผู้ให้เงินทุน

รายงาน Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ปี 2558 พบว่า แหล่งเงินทุนที่ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ใช้ได้มาจากเงินออมของตนเองร้อยละ 59.3 ยืมจากสมาชิกในครอบครัวร้อยละ 24.1 กู้ยืมจากเพื่อนร้อยละ 14.1 และกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้เพียง ร้อยละ 2.5 เท่านั้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ SME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เนื่องจาก ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ในการค้ำประกัน

"Money we can" จับคู่นักลงทุน-คนอยากกู้ ติดปีกให้ SME ไทย

พงศ์ธร บอกว่า ข้อดีของผู้กู้หรือผู้ประกอบการในแพลทฟอร์ม online P2B คือไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อข้อมูลในปัจจุบันทำให้บริษัทสามารถประเมินได้ว่า ผู้กู้ใดที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการได้รับเงินจากผู้ลงทุน นอกจากนั้นยังมีความสะดวกรวดเร็วในการยื่นขอเงินทุนและลงทะเบียน

“เทคโนโลยีทำให้เราสามารถเชื่อมต่อข้อมูลและทำให้ผู้กู้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพียงแค่พิมพ์ชื่อของตัวเอง บริษัท จำนวนเงินและระยะเวลาที่ต้องการ รายละเอียดอื่นๆ จำนวนมากที่เชื่อมต่อในระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะถูกเชื่อมโยง ซึ่งภายในเวลาไม่นานเกิน 24 ชั่วโมงก็จะได้รับการประเมินและแจ้งเตือนในเบื้องต้นว่าใครบ้างที่เหมาะสมที่จะได้รับการอนุมัติ”

สำหรับกฎเกณฑ์ในการอนุมัติให้กับผู้กู้เป็นรายละเอียดที่บริษัทเปิดเผยได้ไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น จำนวนปีที่ก่อตั้งบริษัท รายได้ กำไร หนี้สิน สภาพคล่อง คดีความ ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จุดประสงค์และระยะเวลาในการกู้ เป็นต้น เพื่อประกอบการตัดสินใจ นักลงทุนสามารถพิจารณาจากข้อมูลและตัดสินลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ โดยพงศ์ธรยืนยันว่า บริษัทโฟกัสการปล่อยกู้ให้กับเรื่องคุณภาพมากกว่ารายได้

ขณะที่ประโยชน์หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ ผู้บริหารวัย 28 ปีบอกว่าคือรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากผู้กู้ยืมตามที่ตกลงทำสัญญากัน โดยไม่ถูกจัดสรรให้กับ Money we can แต่อย่างใด

“รายได้ของบริษัทเรามาจากฝั่งผู้กู้ยืมเท่านั้น ไม่ได้เก็บจากนักลงทุน ตัวอย่างเช่น ตกลงกันที่ดอกเบี้ย 15 เปอร์เซนต์ต่อปี เมื่อถึงเวลากำหนดชำระ 15 เปอร์เซนต์นั้นเป็นของเขาหมดเลย ตัวกลางอย่างเราจะได้เงินจากฝั่งผู้กู้ยืม เช่น ยอดกู้ยืม 1 ล้านบาท เราได้ 5 เปอร์เซนต์ก็เท่ากับ 5 หมื่นบาท ผู้กู้ได้ 9.5 แสนบาท”

นอกเหนือจากการลงทุนในบริษัทที่ผู้ลงทุนเลือกเองแล้ว Money we can ได้ออกแบบโปรแกรมกระจายความเสี่ยงไว้รอบรับ โดยเม็ดเงินจำนวนหนึ่งจะถูกกระจายไปในบริษัท 100 แห่งโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 4 เปอร์เซนต์ต่อปี โดยเงินลงทุนขั้นต่ำแต่ละบริษัทเริ่มต้นที่ 1,000 บาท เพื่อหวังดึงดูดและเปลี่ยนวิธีคิดการลงทุนของคนไทย

"Money we can" จับคู่นักลงทุน-คนอยากกู้ ติดปีกให้ SME ไทย มนตรี แก้วมงคลสุข CTO และ พงศ์ธร เลาหะวิไลย CEO “Money we can”

หวังกฎหมายรองรับโดยเร็ว

ปัจจุบันการกู้ยืมเงินในระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ยังมีข้อจำกัดจากกฎหมายที่อยู่ระหว่างทำการศึกษาและค้นหาแนวทางควบคุมจากรัฐบาล รวมถึงวิธีคิดความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อการหารายได้ลักษณะนี้

“ข้อกฎหมายและการควบคุมของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ยังไม่สามารถหารายได้ได้ ทำได้เพียงเชิญชวนและเก็บข้อมูลจากผู้สนใจทั้งนักลุงทุนเเละผู้ขอกู้รวมกว่า 500 ราย คาดว่าปลายปีนี้รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะอนุมัติ เช่นกันกับวิธีคิดและความเข้าใจของคนไทย ที่ยังต้องสร้างการให้รับรู้ให้มากขึ้น พงศ์ธรบอกถึงความคาดหวังของตนเองรวมถึงบริษัทที่มีเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SME ในไทยให้มากที่สุด

อดีตบัณฑิตคณะการเงินและการธนาคาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งทำงานด้านหลักทรัพย์มาตลอด รวมถึงเป็นเจ้าของโรงแรม Boxtel ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทิ้งท้ายว่า ไม่กลัวการกระโดดลงมาร่วมแบ่งเค้กของธนาคารพานิชย์ และมองในแง่ดีว่าเป็นโอกาสสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับคนไทย โดยเชื่อมั่นว่ายังมีส่วนแบ่งอีกมากให้กับแพลทฟอร์ม online P2B รายเล็กอย่าง Money we can

-------------

ผู้สนใจสามารถศึกษารูปแบบการลงทุนดังกล่าวต่อได้ที่ https://www.moneywecan.com/