posttoday

ยกเครื่องรัฐวิสาหกิจ ใต้ปีกปฏิรูปประเทศ

21 เมษายน 2561

หลังแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องถือปฏิบัติอย่างเป็นทางการ

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

หลังแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องถือปฏิบัติอย่างเป็นทางการ โดยในส่วนของแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจมีหลายประเด็นให้ต้องติดตาม

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจซึ่งมี "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" เป็นประธาน ได้กำหนดหลักการปฏิรูปเศรษฐกิจไว้ 3 ด้าน ครอบคลุมมิติสำคัญทางเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เกิดการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจระดับฐานรากและเร่งความเร็วในการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างจริงจัง ประกอบด้วยด้านที่ 1 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.สร้างความ เท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และ 3.การปฏิรูปด้านสถาบันเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปด้านที่ 1 และ 2 นั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจได้มีการเปิดเผยให้เห็นข้อมูลอยู่เป็นระยะ รายงานนี้จึงจะหยิบยกมาให้เห็นเฉพาะด้านที่ 3 การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ ในส่วนการปฏิรูป หน่วยงานบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐ คือรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในความสนใจในวงกว้างของสังคม

ทั้งนี้ ได้ระบุถึงความสำคัญ ของรัฐวิสาหกิจว่า เป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ด้วยขนาดสินทรัพย์ที่มากถึง 14.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50% ของสินทรัพย์ที่ภาครัฐมีทั้งหมด มีรายได้สูงถึง 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2 เท่าของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในแต่ละปี นำส่งรายได้เข้ารัฐประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี เป็น ผู้จ้างงานรายใหญ่ของประเทศ ด้วยการจ้างงาน 4 แสนคน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่า 1 ใน 5 ของมูลค่าตลาดรวม

แผนการปฏิรูปฯ ระบุว่า เป้าหมายอย่างน้อยภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2565 รัฐวิสาหกิจไทยควรจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในแต่ละเรื่องคือ ทำพันธกิจ หลักที่ควรทำ มีการบูรณาการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ทำอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและยั่งยืน ทำอย่างโปร่งใส และบริหารทรัพย์สินของชาติให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด โดยดำเนินการผ่านแนวทางการปฏิรูป 4 ด้าน

ด้านที่ 1 แบ่งแยกหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจนไม่ให้ขัดและทับซ้อน กันคือ กระทรวงเจ้าสังกัดมีหน้าที่ให้นโยบายในการดำเนินงาน รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยสำหรับการดำเนินนโยบายที่จะเกิดผลกระทบทางการเงินต่อรัฐวิสาหกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ หนึ่งในตัวอย่างของบทบาทที่ทับซ้อนที่เกิดขึ้นคือ กรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในเรื่องนโยบายรับจำนำข้าว ทาง รมว.คลัง ต้องสวมหมวกถึง 3 ใบ ทั้งกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของ การทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการของ ธ.ก.ส. ซึ่งการขัดกันของทั้ง 3 บทบาท เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ธ.ก.ส.ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการคลังในช่วงการทำนโยบายรับจำนำข้าว

ด้านที่ 2 กำหนดกติการะหว่างผู้เกี่ยวข้องตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี เช่น การสรรหาการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจ มีมาตรการป้องกันประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ ด้านที่ 3 การปรับปรุงรูปแบบหน่วยงานเจ้าของ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องรัฐวิสาหกิจแทนประชาชน และช่วยให้การบริหารจัดการระบบรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่า แบ่ง หน่วยงานทำหน้าที่เป็น 2 ส่วน คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เจ้าของ สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ประกอบการเชิงธุรกิจ

อีกส่วนหนึ่งคือองค์กรเจ้าของสำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะการประกอบการเชิงสังคม และไม่มีการประกอบการเชิงธุรกิจ (รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ หรือจัดตั้งโดยมติ ครม.) ซึ่งงานในส่วนนี้สามารถมอบหมายให้ สคร.ดูแลได้

สุดท้าย ด้านที่ 4 การกำกับดูแลด้วยกลไกตลาดที่มีความเท่าเทียม ไม่บิดเบือน มีพลวัตต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนการปฏิรูปได้กำหนดตัวชี้วัดสำคัญของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจคือ การออกมามีผลบังคับของ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... และมีการจัดตั้งหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่เจ้าของ (บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ) เพื่อดูแลรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่มีภารกิจเชิงธุรกิจ ภายในปี 2561-2562 โดยใช้งบประมาณดำเนินการสำหรับจัดตั้งองค์กรใหม่นี้ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน