posttoday

สิงห์อมควันไม่ถอยดันภาษีบุหรี่มี.ค.เพิ่ม

13 เมษายน 2561

การเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ยังขยายตัวเนื่อง แม้ว่าอัตราจะเพิ่มขึ้นสูง ครึ่งปีแรกงบประมาณยังเก็บได้เกินกว่าเป้าหมาย

การเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ยังขยายตัวเนื่อง แม้ว่าอัตราจะเพิ่มขึ้นสูง ครึ่งปีแรกงบประมาณยังเก็บได้เกินกว่าเป้าหมาย

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีบุหรี่เดือน มี.ค. 2561 จัดเก็บได้ 7,170 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10.97 และขยายตัวโต กว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 2.47% ซึ่งถือว่าการเก็บภาษีบุหรี่เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ใช้อัตราภาษีใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 ทำให้ภาษีและราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนี้ การเก็บภาษียาสูบในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 จัดเก็บได้ทั้งหมด 3.47 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 8.03% แต่ยังต่ำกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ในช่วงปีเดียวกันเมื่อปีที่แล้วอยู่ 0.88% แสดงให้เห็นว่าการบริโภคบุหรี่ยังมากขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับช่วงเดือนกันปีก่อน

สำหรับการเก็บภาษีสรรพสามิตทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 จัดเก็บได้ทั้งหมด 2.68 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.27% และต่ำกว่ารายได้จัดเก็บได้ในช่วงปีเดียวกันเมื่อปีที่แล้วอยู่ 3.3% เนื่องจากการเก็บภาษี

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า กรมสรรพสามิตจะเข้าชี้แจงให้พนักงานโรงงานยาสูบเข้าใจถึงอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ หลังจากกลุ่มสหภาพของโรงงานยาสูบมองว่ากระทบกับยอดขาย ทำให้มีผลการดำเนินงานขาดทุน ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงงานยาสูบก็ได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินงานปี 2561 โรงงานยาสูบจะมีกำไรจากที่ประเมินไว้ว่าจะขาดทุน 1,500 ล้านบาท และไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่ต้องกู้มาเพื่อลงทุนตามแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงงานยาสูบมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 70% หลังจากอัตราภาษีใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2560 ทำให้ยอดส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบ 2 เดือนแรกลดลงเหลือ 60% แต่ปัจจุบันได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่กว่า 60%

ปัจจุบันอัตราภาษีบุหรี่ใหม่เก็บตามปริมาณ 1.20 บาท/มวน และเก็บตามมูลค่า 20% ของราคาสำหรับบุหรี่ที่ไม่เกิน 60 บาท และ 40% สำหรับบุหรี่ที่เกิน 60 บาท หลังจากนั้น 2 ปี ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 1 ปีกว่า จะเก็บตามมูลค่าเท่ากันหมดที่ 40% ซึ่งโรงงานยาสูบก็ยังสามารถแข่งขันได้เพราะบุหรี่ต่างประเทศจะปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นซอง 80-90 บาท ขณะที่บุหรี่ของโรงงานยาสูบจะอยู่ที่ 60-70 บาท ซึ่งสามารถขายและมีกำไรได้

ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้ตอบเรื่องการแก้ไขปัญหาอัตราภาษีบุหรี่ใหม่มาให้กรมสรรพสามิต ซึ่งตอนนี้การใช้อัตราภาษีบุหรี่ใหม่มาได้ 6 เดือนแล้ว ผู้ประกอบการต่างๆ ปรับกลยุทธ์การขายเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น การเก็บภาษีบุหรี่ของกรมก็ได้ตามคาดไว้ ดังนั้นอาจจะไม่จำเป็นออกมาตรการใดๆ เพิ่มเติม หากโรงงานยาสูบรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ เพราะเหลืออีกไม่ถึง 1 ปีครึ่ง ภาษีทุกยี่ห้อก็ต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกัน