posttoday

กนง.จับตาหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

12 เมษายน 2561

คณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนเร่งตัว ย้ำติดตามสงครามการค้าหวั่นกระทบส่งออกลามถึงเศรษฐกิจไทย

คณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนเร่งตัว ย้ำติดตามสงครามการค้าหวั่นกระทบส่งออกลามถึงเศรษฐกิจไทย

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นบ้างตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและรถยนต์ และต้องติดตามหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ใหม่ที่เพิ่มขึ้นบางหมวด  รวมทั้งให้ติดตามสงครามการค้าสหรัฐ-จีนอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการเศรษฐกิจที่จะโน้มไปด้านต่ำและกระทบต่อการส่งออกไทย

อย่างไรก็ดี กนง.มองว่าหนี้ครัวเรือนไม่น่าห่วงมาก หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2560 อยู่ที่ 77.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3 อยู่ที่ 77.3% แต่ปกติไตรมาส 4 เป็นฤดูกาลใช้จ่าย หากตัดปัจจัยฤดูกาลไป หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 77.2% ลดลงจากไตรมาส 3 ที่ตัดฤดูกาลแล้วอยู่ที่ 77.5%

"คงไม่เห็นอาการเงินฝืด การใช้จ่ายยังขยายตัวได้อยู่ การลงทุนก็ยังมีต่อเนื่อง ส่วนเอ็นพีแอลก็มีกลุ่มที่ดีขึ้น มีแค่บางหมวด ที่ยังไม่ค่อยดี คือกลุ่มที่วงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นปกติเมื่อเศรษฐกิจดี เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบก่อน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นเอสเอ็มอีจะได้รับผลดีช้ากว่า" นายจาตุรงค์ กล่าว

ด้านแนวโน้มเงินเฟ้อมีโอกาสปรับขึ้นค่อยเป็นค่อยไปและไตรมาส 2 นี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเข้ากรอบล่างของ เป้าหมายได้ หรือ 1% จากเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 1-4% เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยราคาอาหารสดลดลงยังเป็นตัวกดดันให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มช้ากว่าที่ประเมิน

ทั้งนี้ เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กนง.ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ขึ้นเป็นเฉลี่ย 62.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดือน ธ.ค. 2560 มองไว้ที่ 55 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนปีที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยจริงอยู่ที่ 53.1 ดอลลาร์/บาร์เรล ถือเป็นการปรับขึ้นประมาณการมากกว่าที่ผ่านมา สาเหตุที่ปรับขึ้นมากเพราะมองว่าความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งกลุ่มโอเปกและไม่ใช่ โอเปกลดการผลิตน้ำมันตามเป้าหมายได้ต่อเนื่อง

สำหรับกรณีคณะกรรมการ กนง. มีมติ วันที่ 28 มี.ค. 6 ต่อ 1 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% กรรมการ 1 ท่านให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% เพราะมองภาวะการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อเนื่องอาจทำให้สาธารณชนประเมินความเสี่ยงระยะข้างหน้าต่ำเกินไปได้