posttoday

ธปท.เล็งลดทุนจดทะเบียนเป็นนันแบงก์

24 ธันวาคม 2552

โพสต์ทูเดย์ -  ธปท.เล็งลดทุนจดทะเบียนเป็นนันแบงก์เหลือ 10 ล้าน จากปัจจุบัน 50 ล้าน หวังดึงเจ้าหนี้เข้าสู่ระบบ

โพสต์ทูเดย์ -  ธปท.เล็งลดทุนจดทะเบียนเป็นนันแบงก์เหลือ 10 ล้าน จากปัจจุบัน 50 ล้าน หวังดึงเจ้าหนี้เข้าสู่ระบบ

รายงานจาก สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.กำลังศึกษาแนวทางการนำเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ด้วยการหาทางให้เข้ามาขออนุญาตจดทะเบียน เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์) ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ จากการหารือระหว่างธปท.กับผู้ที่สนใจเข้ามาประกอบกิจการการปล่อยสินเชื่อฐานราก หรือ ไมโคร ไฟแนนซ์ (Micro Finance) มีผู้ประกอบการสนใจที่เข้ามาปล่อยสินเชื่อในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย พอสมควร ให้ถ้าใช้แนวทางที่เจ้าหนี้นอกระบบจะเข้ามาปล่อยสินเชื่อในระบบได้ตามกรอบ ซึ่งอาจจะใช้การขออนุญาตจัดตั้งเป็นนันแบงก์ ตามปว.58 และสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลได้ ภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดไม่เกิน 28%

“แต่จากการพูดคุยกับเจ้าหนี้นอกระบบ และผู้สนใจปล่อยสินเชื่อไมโคร ไฟแนนซ์ ในเบื้องต้น พบว่ากลุ่มที่สนใจเหล่านี้ติงเรื่องทุนจดทะเบียนที่จะจัดตั้งนันแบงก์ได้ขั้นต่ำต้องมีทุน 50 ล้านบาทนั้นสูงเกินไป ดังนั้น เพื่อช่วยให้เจ้าหนี้นอกระบบ ที่ทำผิดกฎหมายเข้ามาทำตามกฎหมายได้ รวมทั้งจะได้ช่วยส่งเสริมธุรกิจการเงินในลักษณะไมโคร ไฟแนนซ์ได้ ธปท.จึงกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำลงจาก 50 ล้านบาท ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะลดทุนลงมาเหลือ 10 ล้านบาท เพราะตัวเลขนี้ธปท.ก็มองอยู่ ” แหล่งข่าวระบุ 

แหล่งข่าว เปิดเผยต่อว่า อย่างไรก็ตามหากผลการศึกษาสรุปว่าลดทุนจดทะเบียนนันแบงก์เหลือ 10 ล้านบาทได้จริง อาจจะต้องพิจารณาจำกัดเพดานและสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงขอบเขตการทำธุรกรรมให้เหมาะสมกับเงินทุนด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจความต้องการที่แท้จริงของเจ้าหนี้นอกระบบที่สนใจจะเข้ามาอยู่ในระบบจริงด้วย ว่าจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน คุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์หรือไม่ เพราะถ้าเจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบจะต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต้องเปิดเผยตัวตน และที่สำคัญต้องเปลี่ยนวิธีการทวงหนี้ใหม่ให้อยู่ในกรอบกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ที่จะนำมาใช้ในช่วงปี 2553-2557 ธปท.ยังมุ่งที่จะปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนที่มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาสทางการเงิน ให้เข้าถึงสินเชื่อ แหล่งเงินทุน และบริการทางการเงินอื่นๆ มากขึ้นด้วย สอดคล้องกับนโยบายการเร่งรัดให้ลูกหนี้นอกระบบมาขึ้นทะเบียนการเป็นหนี้นอกระบบที่รัฐบาลจะหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป เพื่อให้ได้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยเหมาะสมและไม่ถูกทวงหนี้โหด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนายกระดับระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทยในระยะต่อไป