posttoday

'รสนา' สับนโยบายพลังงานผิดธรรมาภิบาล แนะเลิกกองทุนน้ำมัน

24 ธันวาคม 2552

โพสต์ทูเดย์ -“รสนา” จวกนโยบายพลังงานผิดหลักธรรมาภิบาล ปล่อยราคาน้ำมันสูงเกินจริง เสนอเลิกกองทุนน้ำมันฯ    

โพสต์ทูเดย์ -“รสนา” จวกนโยบายพลังงานผิดหลักธรรมาภิบาล ปล่อยราคาน้ำมันสูงเกินจริง เสนอเลิกกองทุนน้ำมันฯ    

น.ส.รสนา  โตสิตระกูล   สมาชิกวุฒิสภาในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แถลงผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในกิจการพลังงานไทย ว่า รัฐบาลผิดพลาดในการบริหารนโยบายด้านพลังงาน ปล่อยให้เกิดตลาดเทียมในกิจการพลังงาน  โดยเฉพาะการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะอิงกับราคาน้ำมันสิงคโปร์ซึ่งต้องบวกค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ทั้งๆ ที่ไทยมีแหล่งน้ำมันดิบในประเทศของตัวเอง  และราคาปลีกน้ำมันของไทยปรับตัวลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโกล

ทั้งนี้ รัฐบาลควรยุติบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลระดับราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ แม้ปัจจุบันจะมีเงินสดอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากยกเลิกได้จะทำให้ระดับราคาน้ำมันลดลงเพราะไม่ต้องจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีก

นอกจากนี้ การที่ภาครัฐนำเงินกองทุน ไปชดเชยการนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จากต่างประเทศ โดยปี 2551 ใช้เงินถึง 8,000 ล้านบาท และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนการใช้แอลพีจีพบว่า ธุรกิจปิโตรเคมีมีการใช้เพิ่มขึ้นถึง 2.5 แสนตัน เมื่อเทียบกับปี 2551 ในขณะที่การใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม มีอัตราลดลง แสดงให้เห็นว่าธุรกิจปิโตรเคมีเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ต้องนำเข้าในปริมาณที่มาด แต่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรมว.พลังงาน เป็นประธานกลับนำเงินกองทุนน้ำมันฯที่เป็นของประชาชนไปชดเชยการนำเข้า  เท่ากับว่ากลุ่มปิโตรเคมีได้ประโยชน์ทั้งการซื้อก๊าซต่ำกว่าราคาตลาดโลก

น.ส.รสนา กล่าวถึง การหาประโยชน์จากแหล่งพลังงานของประเทศว่า รัฐบาลต้องปรับอัตราค่าภาคหลวงใหม่ จากเดิมที่กำหนดเป็นอัตราคงที่ 12.5 % เปลี่ยนเป็นอัตราการจัดเก็บแบบก้าวหน้า ตั้งแต่ 5-15 %  ส่งผลให้รายได้ค่าภาคหลวงจัดเก็บได้น้อยลง แต่เจ้าของสัมปทานกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะมีรายจ่ายลดลง เช่นปตท.สผ.  ขณะเดียวกันไทยให้อำนาจรมว.พลังงานคนเพียงคนเดียวเป็นผู้สามารถลงนามให้สัมปทานบุคคลได้ รวมทั้งข้าราชการระดับอธิบดียังมีอำนาจแก้ไขสัญญาสัมปทานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีผลศึกษาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานของรัฐกับบทบาทกรรมการบริษัทเอกชนด้านพลังงาน นั้น จากการตรวจสอบโครงสร้างการกำกับดูแลนโยบายพลังงานของประเทศพบว่า กรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่เป็นข้าราชการระดับสูงมีหน้าที่กำกับดูแลกองทุนฯหลายคนไปนั่งเป็นกรรมการและประธานกรรมการในเครือบริษัทปตท.   ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะข้าราชการเหล่านี้ได้ค่าจ้างในรูปเบี้ยประชุมและโบนัสในอัตราสูงจากบริษัทพลังงานปีละหลายล้านบาท จึงเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวว่าข้าราชการเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะใดระหว่างกรรมการบริษัท หรือเป็นข้าราชการที่ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน