posttoday

อภิสิทธิ์ ห่วงเปิดเสรีสินค้าเกษตรกระทบตลาดในปท.

24 ธันวาคม 2552

โพสต์ทูเดย์ - “อภิสิทธิ์” ห่วงเปิดเสรีสินค้าเกษตรอาฟตากระทบภายใน ตั้ง ผู้แทนการค้าติดตามผลกระทบ ลั่นพร้อมเยียวยาผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ

โพสต์ทูเดย์ - “อภิสิทธิ์” ห่วงเปิดเสรีสินค้าเกษตรอาฟตากระทบภายใน ตั้ง ผู้แทนการค้าติดตามผลกระทบ ลั่นพร้อมเยียวยาผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานเสวนา “เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา): ไทยพร้อมหรือยัง” ว่า มีความเป็นห่วงเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตรภายใต้กรอบอาเซียน (อาฟตา)  ที่จะมีการลดภาษี 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 แต่อยากให้มองภาพรวมว่าการเปิดเสรีการค้ามีทั้งได้และเสียประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องมองในมุมผู้บริโภคด้วยเพราะอาฟตาจะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าราคาถูก ส่วนบางรายที่ได้รับผลกระทบในการแข่งขัน รัฐบาลมีกลไกที่จะเข้าไปช่วยเหลือแล้ว เช่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เป็นกลไกในการติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการใช้กองทุนที่มีอยู่ทั้งส่วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

“ผลกระทบสินค้าเกษตร จะมีมาตรการในการบริหารการนำเข้าทั้งเรื่องคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคการ มาตรฐานสินค้า และการดูแลไม่ให้พืชจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศ สิ่งเหล่านี้จะทำให้มั่นใจว่าการเปิดเสรีภาพรวมไทยเข่งขันได้” นายอภิสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ไทยมีความจำเป็นต้องเปิดเสรีการค้าอาเซียน เพราะโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยคู่ค้าที่ไทยมีอยู่ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เศรษฐกิจข้างหน้าจะเติบโตแบบชะลอตัวลง ดังนั้นต้องจำเป็นพึ่งพาตลาดเอเชีย เช่น จีนและอินเดีย  ทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดกลางและเล็ก ไม่สามารถยืนลำพังได้ จึงต้องรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ในส่วนของไทยมองว่ามีความพร้อมต่อการเปิดตลาดครั้งนี้ เพราะการค้าระหว่างไทย-อาเซียน แต่ละปีไทยได้ดุลการค้ามากถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าระบบการค้าเสรีขึ้นกับการปรับตัวของภาคเอกชนด้วย ที่ต้องให้ความสำคัญการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ส่วนภาครัฐมีหน้าที่สร้างกฎกติกา เพื่อเอื้อต่อการปรับตัวได้ง่าย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ด้านนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา กล่าวใน งานเสวนา “เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา): ไทยพร้อมหรือยัง”ว่า แม้จะมีการทยอยลดภาษีสินค้าอาฟตามาแล้วถึง 17 ปี แต่ไทยยังไม่มีความพร้อม เห็นได้จากคนไทยยังไม่รู้สึกการเป็นส่วนหนึ่งของเออีซี และเพิ่งจะมาตื่นตัวไม่ถึง 6เดือน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างภาพว่ามีการเตรียมความพร้อม มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะการเยียวยาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาวิจัย แต่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่มีการปฎิบัติจริงอย่างไรก็ตามได้เสนอนายกรัฐมนตรีตั้งสำนักงานถาวรขึ้นมาดูแลกรอบการเจรจาการค้าเสรีทั้งหมด เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและดูแลผลกระทบ 

นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไทยต้องใช้เงินมากถึง 700 ล้านบาท ในการศึกษาผลกระทบการเปิดเสรีการค้า แต่ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายการเยียวยา เพราะการให้เงินชดเชยไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ แต่ต้องสร้างสังคมใหม่ มีระบบรองรับการแข่งขัน ส่วนในด้านความพร้อม ไทยมีความพร้อมระดับหนึ่งเท่านั้นสิ่งที่ควรทำคือมียุทธศาสตร์การค้าเป็นรายสินค้าให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์แข่งขันได้เต็มที่

ขณะที่ นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ไม่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นห่วงเรื่องการกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในรูปของมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่แต่ละประเทศในอาเซียนต่างกำหนดขึ้นมา และอาจกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันเนื่องจากประเทศในอาเซียนผลิตสินค้าคล้ายกัน ทำให้ในที่สุดผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีจะเป็นกลุ่มนักลงทุนชาติอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ดังนั้นไทยและอาเซียนควรมีการปรับมาตรการทางการค้าให้มีทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเปิดเสรีให้ได้มากที่สุด

นายสมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการ กล่าวว่า ถ้าอยากให้ไทยได้ประโยชน์จากอาฟตา จะต้องมีการปรับตัวใน 5 เรื่องหลัก คือ การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการ การเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ลดการบิดเบือนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย เช่นการแทรกแซงราคาข้าวที่ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านไม่น้อยกว่า 10% เป็นการจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาในไทย ที่สำคัญไทยต้องลดความขัดแย้งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน