posttoday

จ้างคนจนได้ลดภาษี1.5เท่า

07 มีนาคม 2561

ครม.สร้างแรงจูงใจนายจ้างที่รับผู้ถือบัตรคนจนเข้าทำงานจะหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่ม คลังชี้มาตรการภาษีจูงใจเอกชนมีเวลา 2 ปีภาษี คาดสูญ รายได้ 3,000 ล้าน

ครม.สร้างแรงจูงใจนายจ้างที่รับผู้ถือบัตรคนจนเข้าทำงานจะหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่ม คลังชี้มาตรการภาษีจูงใจเอกชนมีเวลา 2 ปีภาษี คาดสูญ รายได้ 3,000 ล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.เพชรบุรี เห็นชอบมาตรการภาษีจูงใจให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำค่าจ้างที่จ่ายให้กับลูกจ้างที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ซึ่งจ่ายเงินค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นำเงินที่จ่ายเป็นค่าจ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าของค่าจ้างที่จ่ายไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปีภาษี เริ่มเดือน ม.ค. 2561-31 ธ.ค. 2562  ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าภายใต้มาตรการนี้จะทำให้สูญเสียรายได้ในปีภาษีดังกล่าวประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันการลดหย่อนภาษีครั้งนี้ถือเป็นมาตรการจูงใจให้นายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ หรือพิจารณาจ้างงาน ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ เป็นกรณีพิเศษ

นายณัฐพร กล่าวว่า ในกรณีที่ลูกจ้างที่ถือบัตรสวัสดิการฯ เข้าทำงานในบริษัทหรือนิติบุคคลหลายแห่งให้บริษัทหรือนิติบุคคลที่เข้ารับลูกจ้างก่อนเป็นอันดับแรก เป็นผู้มีสิทธินำค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายได้ ขณะที่การจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการฯ จะไม่รวมถึงการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีรายได้เกินกว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาท หรือมีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาท ในปีภาษีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แม้ภาครัฐจะสูญเสียรายได้ภาษี 3,000 ล้านบาท แต่ถือเป็นการช่วยเพิ่มสวัสดิการสังคม คุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่ ครม.ได้ เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ และยังสอดคล้องกับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลังที่จูงใจให้นายจ้างมีส่วนร่วมในการฝึกทักษะแรงงาน และเพิ่มความรู้ให้กับ ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งการให้หักรายจ่ายจากค่าจ้างแรงงานเพื่อสนับสนุนการจ้างงานถือว่าเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับโครงการที่มีการดำเนินการไปก่อนหน้านี้