posttoday

คณะกรรม 4 ฝ่ายเตรียมเสนอกรอบอีไอเอ-เอชไอเอมาบตาพุด

23 ธันวาคม 2552

โพสต์ทูเดย์ – คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เตรียมเสนอกรอบการทำอีไอเอ-เอชไอเอ และกระบวนการรับฟังความเห็น ปัญหามาบตาพุด ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

โพสต์ทูเดย์ – คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เตรียมเสนอกรอบการทำอีไอเอ-เอชไอเอ และกระบวนการรับฟังความเห็น ปัญหามาบตาพุด ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เลขาธิการคณะกรรมการ 4 ฝ่าย แก้ไขปัญหามาบตาพุด ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมจะสรุปข้อมูลกรอบการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) และกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 24 ธ.ค. เพื่อให้พิจารณาอนุมัติ และมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกเป็นประกาศกระทรวงฯ ต่อไป ซึ่งจะมีผลให้เอกชนนำมาปฎิบัติตามได้หลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ทั้งนี้ กระบวนการทำอีไอเอและเอชไอเอ ในเบื้องต้นผู้ประกอบการจะต้องกำหนดประเด็นการศึกษาว่ามีขอบเขตการศึกษาอย่างไร และให้ประชาชนในพื้นที่นำเสนอประเด็นความเป็นห่วง หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการทำรายงาน เมื่อทำเสร็จต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยในขั้นตอนนี้จะมีองค์กรอิสระเข้ามาร่วมให้ความคิดเห็น เมื่อเสร็จแล้วก็นำรายงานส่งไปยังคณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) และส่งให้องค์กรอิสระให้ความเห็นอีกครั้ง ซึ่งหากผ่านขั้นตอนทั้งหมดรายงานจะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติ อนุญาตต่อไป ซึ่งในกระบวนการนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

สำหรับโครงการที่ทำอีไอเอแล้วจะทำให้การทำเอชไอเอทำได้รวดเร็วขึ้น เพราะมีอีไอเอเป็นฐานข้อมูลทำให้ทราบว่ามีข้อบกพร่องส่วนไหนที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยการทำเอชไอเอจะเน้นในประเด็นสุขภาพกาย สังคม และจิตใจ

“องค์กรอิสระจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น และในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อจะได้ช่วยปรับปรุงชี้ข้อบกพร่องได้ตั้งแต่ต้น ดีกว่ามาให้ความเห็นทีหลังเพียงครั้งเดียว ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะเร่งทำเรื่ององค์กรอิสระ ให้ออกมาสอดรับกับการทำอีไอเอและเอชไอเอให้ทันเวลาพอดี” นาบบัณฑูร กล่าว

ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ จะนำเสนอประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังมีกระบวนการจัดทำเอชไอเอ โดยจะเสนอให้โครงการที่มีกิจกรรม ผลกระทบ และพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกันสามารถทำเอชไอเอร่วมกันได้ แต่รายงานต้องออกมาแยกเป็นรายโครงการ อีกทั้งจะเสนอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลร่วมกัน เช่น รายงายสุขภาพของประชาชน รวบรวมไว้ที่สาธารณะสุขจังหวัด เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนต้องมาตรวจสุขภาพทุกครั้งที่มีโครงการต้องทำรายงานเอชไอเอ เป็นต้น

ส่วนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ประชาชนต้องเข้ามมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง มีข้อมูลและเวลาที่มากพอให้ประชาชนได้มีเวลาในการศึกษาล่วงหน้า