posttoday

ธปท.สั่งแบงก์ห้ามขายอนุพันธ์ให้คนที่ไม่เข้าใจ

23 ธันวาคม 2552

โพสต์ทูเดย์ – ธปท.เพิ่มความเข้มงวด สั่งแบงก์ห้ามขายอนุพันธ์ที่ซับซ้อนให้กับนักลงทุนที่ยังไม่มีความเข้าใจ หวั่นสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจการเงินไทยซ้ำรอยสหรัฐฯ

โพสต์ทูเดย์ – ธปท.เพิ่มความเข้มงวด สั่งแบงก์ห้ามขายอนุพันธ์ที่ซับซ้อนให้กับนักลงทุนที่ยังไม่มีความเข้าใจ หวั่นสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจการเงินไทยซ้ำรอยสหรัฐฯ

น.ส.จามรี สุทธิพงษ์ชัย ผู้บริหารทีมอนุพันธ์ทางการเงินและสภาพคล่อง ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังสหรัฐฯเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จากการลงทุนในตราสารซีดีโอและซีดีเอส ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของตราสารอนุพันธ์(Derivatives) ธปท.ก็ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์ในการกำกับดูแลตราสารอนุพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถาบันการเงินและนักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันผลกระทบที่อาจมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินได้ มากขึ้น

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ธปท.ได้ปรับปรุงให้รัดกุมมากขึ้น เช่น การเพิ่มความละเอียดในการลงบัญชีตามที่ธปท.กำหนด การจัดทำแบบทดสอบในภาวะวิกฤต(Stress Tests) ในจุดที่เห็นว่าเป็นความเสี่ยงเฉพาะเรื่อง หรือ การวางกรอบให้สถาบันการเงินปฏิบัติ ในเรื่องการให้ข้อมูล ความเข้าใจ ข้อดี ข้อเสีย ให้นักลงทุนรับรู้รายละเอียดก่อนจะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ รวมทั้งในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อลงทุนก็ต้องมีช่องทางให้ร้องเรียนได้ เป็นต้น เพราะการทำธุรกรรมตราสารอนุพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลความเสี่ยงโดยตอนนี้เริ่มใช้ตัวอ้างอิงอนุพันธ์ใหม่ๆมากขึ้น เช่น ทองคำ จากเดิมที่มีแค่ตัวอ้างอิงพื้นฐานอย่าง หุ้น อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย เท่านั้น

น.ส.จามรี เปิดเผยว่า แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการลงทุนในตราสารอนุพันธ์สำหรับคนทั่วไป หรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ ยังมีความไม่เข้าใจอยู่สูง เนื่องจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับราคาสินทรัพย์ที่อ้างอิง อย่างที่ผ่านมา การล้มสลายของวิกฤตในสหรัฐฯ ก็มาจากตราสารอนุพันธ์ที่เรียกว่า ซีดีโอ หรือ ซีดีเอส (ตราสารที่อ้างอิงตามราคาของสินทรัพย์) ขณะที่การผันผวนของราคาทองคำก็อาจทำให้ผู้ลงทุนในตลาดโกลด์ ฟิวเจอร์ขาดทุนได้ ดังนั้น ธปท.จึงต้องการให้นักลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่เป็นชนิดล่วงหน้าควรจะมีความรู้และความเข้าใจในธุรกรรมก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือนักลงทุนทั่วไป

“แต่ไม่ใช่ว่าเกิดปัญหาแล้วเราไม่อนุญาตให้แบงก์ไปลงทุนในตราสารเหล่านี้ หรือไม่ให้แบงก์ออกขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพียงแต่ก่อนแบงก์จะออกขายผลิตภัณฑ์เราจะเพิ่มความเข้มงวดให้ธนาคารพาณิชย์ทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อน โดยต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงความเสี่ยง ข้อดี ข้อเสีย และเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถร้องเรียนได้หากไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยแบงก์ต้องมีศูนย์รับร้องเรียนอย่างเป็นทางการด้วย เพราะที่ผ่านมาการลงทุนในตราสารล่วงหน้าสร้างปัญหาพอสมควร เพราะลูกค้าไม่มีความรู้ไม่เข้าใจ และมีความโลภขณะที่ผู้ออกขายก็ไม่อธิบายถึงความเสี่ยงให้รู้ เพราะฉะนั้นก่อนขายธปท.เลยให้แบงก์ประเมินลูกค้าก่อน ห้ามขายให้นักลงทุนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือกรณีที่แบงก์มาขอออกตราสารอนุพันธ์ที่มีความซับซ้อนมากเกินไปก็อาจจะไม่อนุญาต” น.ส.จามรีกล่าว

น.ส.จามรี เปิดเผยว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่จะลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ธปท.ก็จะกำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดให้ธนาคารทำตามเงื่อนไขด้านความเสี่ยงของธปท.ให้ได้ทั้งหมด และต้องกันสำรองสินทรัพย์เสี่ยงหลังจากตีราคาตามมูลค่าตลาดด้วย เพื่อไม่ให้กระทบฐานะ อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่าการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ไม่น่าจะสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจไทยเหมือนสหรัฐ เพราะธปท.มีนโยบายให้ทำธุรกรรมด้วยความระมัดระวังอยู่แล้ว

ด้านน.ส.ปรียานุช จึงประเสริฐ ผู้บริหารส่วนความเสี่ยงตลาด และกำกับแบบกลุ่ม ธปท. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักบัญชีระดับโลกมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงของซีดีโอ และซีดีเอส  มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการใช้มาตรฐานบัญชีสากลใหม่ ฉบับที่ 39(ไอเอเอส39) ที่กำหนดให้ต้องตีราคาสินทรัพย์ตามมูลค่าตลาดทุกสิ้นปี ทำให้เกิดผลขาดทุนจำนวนมากจนกระทบฐานะของสถาบันการเงิน ส่งผลให้สมาคมผู้ตรวจสอบบัญชีของโลกต้องปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าว ทำให้สมาคมผู้ตรวจสอบบัญชีในไทย และธปท.มีความเห็นร่วมกันว่าควรเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ในส่วนเพิ่มเติม รวมทั้งมาตรฐานทางบัญชีใหม่ ไอเอเอส 32 และ7 ซึ่งเดิมจะนำมาใช้ภายในปี 2554 ให้เลื่อนออกไปบังคับใช้ในปี 2556