posttoday

ส.อ.ท.ขอหมื่นล.ปล่อยสินเชื่อช่วยส่งออก

07 ตุลาคม 2553

ส.อ.ท.คุยคลังปล่อยสินเชื่อวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท แก่เอสเอ็มอีที่ส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่อง ด้านสสว.เตรียมเสนอบอร์ดช่วยสนับสนุนเงินลดภาระด้านการเงินในการทำประกันความเสี่ยง

ส.อ.ท.คุยคลังปล่อยสินเชื่อวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท แก่เอสเอ็มอีที่ส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่อง ด้านสสว.เตรียมเสนอบอร์ดช่วยสนับสนุนเงินลดภาระด้านการเงินในการทำประกันความเสี่ยง

นายธนิต  โสรัตน์  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้หารือกับกระทรวงการคลัง โดยเสนอให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องผู้ส่งออกเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า  โดยกระทรวงการคลังรับที่จะจัดตั้งกองทุนวงเงิน 5,000-10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 

ทั้งนี้ นายกรณ์  จาติกวณิช รมว.คลังเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยจะให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยกู้ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารพาณิชย์  โดยกระทรวงการคลังจะจัดทำรายละเอียดให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ต.ค.2553

ในเบื้องต้นได้กำหนดให้เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง ส.อ.ท.ต้องการให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ลบ 3 และให้เป็นสินเชื่อแบบผ่อนปรนเงื่อนไขการค้ำประกัน  แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ขอนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง  รวมทั้งได้คุณสมบัติเอสเอ็มอีที่มีสิทธิ์ขอสินเชื่อจะต้องมีประวัติการส่งออกในปี 2552 ไม่เกิน 60 ล้านบาท  โดยเอสเอ็มอีขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 50 % ของมูลค่าส่งออกปีที่แล้ว  ซึ่ง ส.อ.ท.ขอให้ใช้สำเนาใบขนสินค้าส่งออกปีที่แล้วเป็นหลักฐานในการตรวจสอบคุณสมบัติของเอสเอ็มอี  แต่กระทรวงการคลังต้องการใช้ข้อมูลของกรมศุลกากรเป็นหลักฐาน  โดย ส.อ.ท.เห็นว่าแนวทางดังกล่าวมีความยุ่งยาก

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยน โดยให้มีค่าธรรมเนียมในการทำประกันค่าเงินไม่เกิน 5 % ของมูลค่าสินค้าส่งออก  ซึ่งกระทรวงการคลังรับที่จะไปพิจารณาแนวทางให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันการทำประกันค่าเงิน รวมทั้งจะไปหารือกับกรมศุลกากรในการผ่อนผันการเก็บค่าธรรมเนียมค่าใบขนจากปกติใบละ 200 บาท และผ่อนผันการเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาใบขนใบละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ส่งออก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 ต.ค.นี้ สสว. จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการสสว.  ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแข็งค่าเงินบาทในระยะเร่งด่วน โดยจะเสนอให้ช่วยลดภาระด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ เช่น การให้เงินสนับสนุนทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้เอสเอ็มอีมีรายได้จากการขายสินค้าลดลง แต่มีต้องมีต้นทุนด้านการทำประกันความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการช่วยเหลือดังกล่าวจะใช้เงินจากกองทุนเอสเอ็มอีของสสว. ที่มีอยู่ 1,900 ล้านบาทเข้ามาสนับสนุน โดยต้องขอมติจากบอร์ดใช้เงินจำนวนนี้ ส่วนจะขอเพิ่มเติมหรือไม่จะต้องรอดูอีกครั้งว่ามีจำนวนผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยจำนวนเท่าไหร่  เพราะไม่ใช่ผู้ประกอบการทั้งหมดจะได้รับผลกระทบจากการค่าเงินบาทแข็ง ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผู้ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่นแปรรูปการเกษตร เป็นต้น 

“ตอนนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าได้ เพราะจะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่รับการผลิตต่อมาอีกครั้ง ไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาเองได้ จึงต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้นานผู้ประกอบการอาจจะต้องลดต้นทุนการผลิตโดยการลดจำนวนคนงาน หรือปิดกิจการไป” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ จะเสนอบอร์ดให้พิจารณาเพิ่มวงเงินเข้าสู่กองทุนเอสเอ็มอี เพื่อนำมาเป็นเงินในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วงเร่งด่วน เช่น การช่วยเหลือผลกระทบค่าเงินบาท หรือการช่วยเอสเอ็มอีราชประสงค์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีเงินเข้ามาเติมบ้าง เพราะกองทุนดังกล่าวสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากการขอความเหลืออื่น ที่รัฐบาลต้องพิจารณา