posttoday

"วัยเก๋า" แห่ขอสินเชื่อทำธุรกิจ

22 มกราคม 2561

เถ้าแก่วัยเก๋า คึกคักเปิดธุรกิจใหม่ แห่ขอสินเชื่อ ธพว. ครึ่งเดือนยอดทะลุ 100 ล้าน

เถ้าแก่วัยเก๋า คึกคักเปิดธุรกิจใหม่ แห่ขอสินเชื่อ ธพว. ครึ่งเดือนยอดทะลุ 100 ล้าน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการสินเชื่อ สร้างอาชีพ วัยเก๋า หลังเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2561 ขณะนี้มียอดขออนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 100 ล้านบาท จากวงเงินที่เตรียมไว้ก้อนแรก 1,000 ล้านบาท ถือว่าได้รับความสนใจและตรงตามความต้องการสินเชื่อของผู้สูงวัยมาก

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อ สร้างอาชีพ วัยเก๋า จะสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป นำไปเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณอายุจากการทำงานประจำ หรือลงทุนซื้อแฟรนไชส์ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำในการประกอบธุรกิจ รวมถึงนำไปใช้ปรับปรุงกิจการเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถแข่งขันในธุรกิจได้ ให้กู้ได้จนถึงอายุ 75 ปี (รวมระยะเวลาให้สินเชื่อแล้วไม่เกินอายุ 75 ปี)

สำหรับวงเงินกู้บุคคลธรรมดาที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจทุกประเภท เช่น เปิดร้านกาแฟ ร้านค้าขนาดเล็ก ให้กู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท และกรณีหากลงทุนซื้อแฟรนไชส์ที่แฟรนไชซอร์อยู่ในโครงการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ ธพว. ให้วงเงินสูงถึง 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะคิดอัตราดอกเบี้ยในกรณีใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อ ธพว.จะคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ +1 กลุ่ม Startup & Innovation ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 1 ปี และเข้าโครงการเอสเอ็มอี ทวีทุน (พีจีเอส 6) ปรับปรุงใหม่ ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. นาน 4 ปี ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 6 เดือน โดยระยะเวลาโครงการนี้สิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2561 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินสินเชื่อ แต่หากได้รับความสนใจมากอาจจะพิจารณาขยายวงเงิน

“ตอนนี้ในองค์กรรัฐวิสาหกิจเปิดให้คนเกษียณได้ 55 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังถือว่ามีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีคนแก่ที่ยังมีความรู้ความสามารถมาก และยังมีสุขภาพแข็งแรง ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวได้ ซึ่งจากยอดที่มีการขอสินเชื่อกว่า 100 ล้านบาทตอนนี้ มีการยื่นขอสินเชื่อมากจากทั่วประเทศ ในหลากหลายธุรกิจ” นายมงคล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะกู้ต้องผ่านการพัฒนาหรือฝึกอบรม หรืออยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าร่วมการพัฒนาจาก ธพว. หรือหน่วยงานพันธมิตร ส่วนกรณีกู้ไปซื้อแฟรนไชส์ต้องผ่านการอบรมจากเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ หรือ “แฟรนไชซอร์” ซึ่งจะช่วยให้ผู้กู้มีความพร้อม และมีศักยภาพ ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ