posttoday

เตรียมตัวให้พร้อมกับลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวต้อนรับปี 2561

03 มกราคม 2561

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่น่าสนใจสำหรับคนชอบเที่ยวและเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบสดๆ ร้อนๆ

โดย...TaxBugnoms

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่น่าสนใจสำหรับคนชอบเที่ยวและเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบสดๆ ร้อนๆ นั่นคือทาง ครม.สัญจรมีมติอนุมัติโครงการเที่ยวเมืองรองลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.5 หมื่นบาท!!!

 ค่าลดหย่อนตัวนี้กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง หลังจากที่ปี 2560 ไม่มีค่าท่องเที่ยวนี้ให้เราชื่นใจ เล่นเอาใครหลายคนไม่กล้าเที่ยว เก็บตัวอยู่กับบ้าน แถมรู้สึกอ้างว้างมากมาย

แม้ว่ามติ ครม.จะออกมาชี้ชัดว่าให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ แต่สิ่งที่พรี่หนอมแนะนำเสมอก็คือ การรอกฎหมายที่ชัดเจนออกมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งคิดว่าจะตามออกมาเร็วๆ นี้ แต่สำหรับคนที่ทนไม่ไหว อยากจะไปเที่ยวเต็มที่ ก็ขอแนะนำวิธีการวางแผนคร่าวๆ มาให้ดูกัน โดยอ้างอิงจากหลักการตามกฎหมายเก่าอย่าง กฎกระทรวงฉบับที่ 316 และ 322 ซึ่งระบุเงื่อนไขไว้ดังนี้ครับ

1) ผู้รับเงินต้องเป็น “ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว” ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม” ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมครับ โดยตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรประเด็นที่อยากจะย้ำก็คือ ถ้าหากไม่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มนี้ ถือว่าใช้ไม่ได้ครับ!! ซึ่งแปลว่าตัวแทนรับจองโรงแรมต่างๆ เช่น Agoda, Booking.com หรือเจ้าอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนกิจการในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ได้ครับ

2) ค่าใช้จ่ายอะไรต้องเป็นการจ่าย “ค่าบริการ” ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็น “ค่าที่พักในโรงแรม” ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเท่านั้น นั่นแปลว่า ค่าเดินทาง เช่น น้ำมันรถ ค่าตั๋วรถทัวร์ ค่าตั๋วเครื่องบิน หมดสิทธิ

3) จำนวนเงินเท่าไรตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่สูงสุดแล้วรวมกัน ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

4) เริ่มใช้ตั้งแต่วันไหน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. พ.ศ. 2561 ครับผม

5) หลักฐานการรับเงินคืออะไร ต้องได้รับหลักฐานจากทางผู้รับเงินโดยระบุชื่อของเรา (คนที่ต้องการนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาใช้ลดภาษี) พร้อมทั้งระบุ จำนวนเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่ายเงินให้ชัดเจน โดยจะเป็น ใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินก็ได้ครับผม

แต่สำหรับมาตรการล่าสุดนี้ จะมีเรื่องของการท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด อีกด้วยครับ โดยรายชื่อจังหวัดที่ว่านั้น ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช อุดรธานี เชียงราย ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นครนายก หนองคาย สระแก้ว เลย ตาก ตราด เพชรบูรณ์ จันทบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พัทลุง ตรัง ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สตูล ชุมพร สุโขทัย สุรินทร์ สกลนคร ลำพูน นครพนม อุตรดิตถ์ ระนอง ลำปาง ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ ชัยนาท น่าน อ่างทอง มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี นราธิวาส ยะลา พะเยา บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และปัตตานี

ดังนั้น ต้องเป็นการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดนี้เท่านั้นถึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ จังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ หมดสิทธิครับ!!!

นอกจากมีค่าลดหย่อนบุคคลธรรมดาแล้ว สำหรับนิติบุคคลที่จัดอบรมสัมมนาในจังหวัดเมืองรองเหล่านี้ ก็สามารถนำ ค่าห้องพัก ค่าขนส่งต่างๆ ในการจัดสัมมนา (เข้าใจว่าให้กับพนักงาน ไม่ใช่ว่าจะจัดกับใครก็ได้) มาหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มอีก 100% หรือพูดให้ง่ายคือจ่ายแล้วได้ 2 เท่าได้อีกด้วยครับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะย้ำอีกครั้งคือ เรื่องของกฎหมายครับ คงต้องติดตามดูอีกทีว่ากฎหมายฉบับใหม่จะออกมาอย่างไรบ้าง ส่วนสำหรับคนที่กำลังจะวางแผนไปเที่ยวอยู่แล้ว อย่าลืมรักษาสิทธิโดยการใช้แนวทางนี้ในการวางแผนภาษีไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ