posttoday

มองต่างในปี 2561

26 ธันวาคม 2560

ปี 2561 จริงอยู่ว่ามีประเด็นบวกรออยู่มากมาย ทั้งความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีที่สุดในรอบ 5 ปี

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์

ปี 2561 จริงอยู่ว่ามีประเด็นบวกรออยู่มากมาย ทั้งความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีที่สุดในรอบ 5 ปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรคาดว่าจะขยาย 4.0% การลงทุนภาครัฐบาลที่จะมีการเร่งผลักดันโครงการที่ค้างท่อออกมา การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวตามเม็ดเงินลงทุนทางตรงของต่างชาติจาก พ.ร.บ.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสขยายตัวสดใส ทั้งหมดทำให้ตลาดวาดฝันไปไกลว่าดัชนีหุ้นไทย (SET Index) จะทะยานขึ้นสู่ 1,900 จุด หรือไกลกว่านั้น

นักลงทุนล้วนมีความเชื่อมั่นที่ดีต่อตลาด ดูได้จากดัชนีความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยจากดัชนีการลงทุนผลจากการสำรวจของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO ICI) เดือน พ.ย. 2560 ยังอยู่ที่ระดับ 150 จุด (ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่พุ่งขึ้นแรงที่สุดในรอบ 3 ปี ที่ 165 จุด) บ่งบอกว่าตลาดยังอยู่ในระดับความเชื่อมั่นที่ร้อนแรง ทั้งนี้เมื่อมองย้อนกลับไปในทุกๆ ครั้งที่ตลาดเกิดความเชื่อมั่นสูง ภาพดัชนีมักจะไม่เป็นไปตามนั้น SET Index จะปรับฐานลงสวนความรู้สึกเกือบทุกครั้ง เพราะเวลาที่ทุกคนมองโลกสวยจะทำเป็นหลงลืมหรือไม่สนใจปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามา โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยบวกที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า

ที่ผ่านมาโลกได้อยู่ในยุคของดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำมาตั้งแต่เกิดวิกฤต ซับไพรม์ในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน แต่ในปี 2561 ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะการขยายตัวร้อนแรงจากผลของกฎหมายปฏิรูปภาษี เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะเริ่มลดนโยบายการเงินผ่อนคลายลง

โดยตั้งแต่ปี 2552-ปัจจุบัน SET Index ปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 285% แต่อัตราเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) กลับโตเพียง 157% บ่งบอกว่าตลาดยอมซื้อขาย SET Index ในระดับสัดส่วนราคาต่อกำไร (PER) ที่สูงขึ้น (Re-rating) ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติในยามที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง เท่ากับว่า 9 ปีที่ผ่านมาตลาดได้รับอิทธิพลจาก EPS Growth ผสมกับการปรับประมาณการ คิดเป็นสัดส่วน 55 : 45

ความเสี่ยงจึงอยู่ตรงที่ปี 2561 ซึ่งผมคาดว่าโลกจะเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเต็มตัว ตลาดจะต้องเปลี่ยนมาเป็นซื้อขาย PER ที่ต่ำลง การจะให้ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะต้องอาศัย EPS Growth เป็นหลัก (แตกต่างจาก 9 ปีที่ผ่านมาที่ได้ทั้ง EPS Growth และการ Re-rating ช่วย) โดยฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยได้คาดกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2561 อยู่ที่ 113.9 บาท/หุ้น คิดเป็น EPS Growth 14.0% และคาดว่าปีหน้าตลาดจะยอมรับ PER ในระดับไม่เกิน 15.5 หรือ 16 เท่า ซึ่งหมายถึงแนว 1,765-1,822 จุด จะเป็นโซนแนวต้านของ SET Index หากดัชนีมาถึงแถวนั้นจริง คำแนะนำที่ดีที่สุดคือลดน้ำหนักการลงทุนมาก่อน

ในช่วงเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำ 2552-ปัจจุบัน ซึ่ง SET Index มีการปรับ PER ขึ้นจาก 11 เท่าสู่ 15 เท่า กลุ่มที่มีการปรับ PER ตามมากที่สุดคือ โรงพยาบาล (15 สู่ 36 เท่า) บันเทิง (14 สู่ 34 เท่า) ขนส่ง (14 สู่ 30 เท่า) ค้าปลีก (15 สู่ 29 เท่า) อาหาร (12 สู่ 20 เท่า) การเงิน (8 สู่ 16 เท่า)

ส่วนกลุ่มที่มีการปรับ PER ขึ้นน้อยหรือไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นคือ ธนาคาร (12 สู่ 10 เท่า) พลังงาน (10 สู่ 12 เท่า) ปิโตรเคมี (10 สู่ 12 เท่า) วัสดุก่อสร้าง (12 เท่าคงที่)

ในเมื่อปี 2561 ภาพเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะเปลี่ยนไปจากช่วงปี 2552-2560 การปรับ PER ขึ้นลงก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน กลุ่มที่เคยซื้อขาย PER แพงก็เตรียมต้องมาอยู่ในที่ต่ำลง ส่วนที่เคยถูกกดให้ซื้อขายกัน PER ต่ำๆ มานานก็มีสิทธิเขยิบขึ้นไประดับ PER สูงกว่าเดิม ซึ่งกลุ่มที่มีโอกาสถูกปรับประมาณการ ให้สูงขึ้นคือ กลุ่มธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) บริษัท ทุนธนชาต (TCAP) (ได้ประโยชน์เต็มๆ จากดอกเบี้ยขาขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี บริษัท ปตท. (PTT) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) (เป็นกลุ่มที่ชดเชยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ)