posttoday

คลังเร่งภาษีที่ดินใช้1ม.ค.62

10 ตุลาคม 2560

คลังมั่นใจ สนช.พิจารณากฎหมายที่ดินในวาระที่ 3 ได้ก่อน สิ้นปี คาดว่าเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2562 แน่นอน

คลังมั่นใจ สนช.พิจารณากฎหมายที่ดินในวาระที่ 3 ได้ก่อน สิ้นปี คาดว่าเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2562 แน่นอน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือการพิจารณาของ สนช.วาระ 2 ได้มีการขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จนถึงสิ้นเดือน พ.ย. 2560 และจะส่งให้ สนช.พิจารณาในวาระที่ 3 ได้ก่อนสิ้นปี ซึ่งกฎหมายจะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2562

ที่ผ่านมา กรรมาธิการเสียงข้าง มากเห็นชอบให้ลดการยกเว้นเก็บภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท ทำให้มีคนต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 3 หมื่นราย แต่ ผู้เสียภาษีคิดเป็นแค่ 1% ของผู้ที่มีบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น ส่วนการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร ยังยกเว้นมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท เหมือนเดิม เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนการเกษตร

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของกรรมาธิการ ยังมีรายละเอียดการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ โดยให้มีการเก็บข้อมูลการเสียภาษีจริงในปัจจุบัน ที่เสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อมาเทียบกับการเสียภาษีตามกฎหมายใหม่ว่าเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีที่เหมาะสม โดยจะเป็นแบบขั้นบันได ผู้ประกอบการที่ขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ก็จะมีภาระภาษีน้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นหรือบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้ประกอบการบางประเภท เช่น โรงเรียนและสถานศึกษาเอกชน โรงพยาบาลเอกชน สนามกีฬาของเอกชน นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีกฎหมายลูกออกมารองรับ

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บรายได้ปีละ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งถือไม่มาก เพราะรายได้ส่วนใหญ่รัฐบาลยังสนับสนุนให้ อปท.

อย่างไรก็ตาม ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างจะเป็นการสร้างฐานการเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่สำคัญ และทำให้ผู้เสียภาษีเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของ อปท.มากขึ้น ว่านำภาษีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นหรือไม่

รมช.คลัง กล่าวว่า ภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์จะมีสัดส่วนภาษีถึง 90% ส่วนการเก็บภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการเกษตร มีสัดส่วนภาษีเพียง 10% เท่านั้น เพราะการเก็บภาษีที่อยู่ศัยเดิมเว้น 50 ล้านบาท จะทำให้มีคนเสียภาษีประมาณ 1% ของ 20 ล้านครัวเรือน เมื่อลดการเว้นภาษีเหลือ 20 ล้านบาท ผู้เสียภาษีก็เพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 2%

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอ อัตราเพดานภาษีแบ่งเป็น 4 ประเภท ให้สนช.พิจารณา ได้แก่ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตรมีเพดานภาษี 0.2% และให้เว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท

2.ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยอัตราเพดานภาษี 0.5%  3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์อัตราเพดานภาษีไม่เกิน 2% และ 4.ที่ดินว่างเปล่าเพดานภาษีไม่เกิน 2% หากที่ดินไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้น 0.5% ทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%