posttoday

คลังปิดความเสี่ยงคุมเข้มแผนก่อหนี้5ปี

30 กันยายน 2560

สบน.ออกแผนบริหารหนี้ 5 ปี หลังคาดหนี้สาธารณะแตะ 50% ต่อจีดีพี ในปี 2565

สบน.ออกแผนบริหารหนี้ 5 ปี หลังคาดหนี้สาธารณะแตะ 50% ต่อจีดีพี ในปี 2565

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธานได้เห็นชอบกลยุทธ์ การบริหารหนี้ระยะกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ 2561-2565) และตัวชี้วัดการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2561 เพื่อให้สามารถระดมทุนได้ครบเต็มจำนวนมีต้นทุนการกู้เงินต่ำในระยะยาวและอยู่ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

การบริหารหนี้ดังกล่าวจะมีตัวชี้วัดความเสี่ยงทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การกู้ใหม่ควรปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทันที ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย เช่น คงสัดส่วนหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่ต่ำกว่า 85% ของหนี้ทั้งหมด และความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายอายุเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 14 ปี คงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี ให้อยู่ในกรอบ 10-14% และคงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระใน 3 ปี ให้อยู่ในกรอบ 25-30% ของหนี้ทั้งหมด

ทั้งนี้ คาดว่ายอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปี 2561-2565 จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับอยู่ที่ 42.7% 44.8% 46.9% 48.6% และ 49.6% ต่อจีดีพี ขณะที่ภาระ ชำระหนี้ต่องบประมาณในปี 2561-2565 จะอยู่ที่ 9% 9.3% 9.7% 10.3% และ 10.7% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดสัดส่วน หนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี และภาระชำระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%

ขณะที่แผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2561 มีวงเงินรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แยกเป็นแผนการ ก่อหนี้ใหม่วงเงิน 5.82 แสนล้านบาท และแผนการบริหารหนี้เดิมวงเงิน 9.2 แสนล้านบาท และรับทราบแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติ คณะรัฐมนตรีภายใต้กรอบแผนวงเงิน 1.61 แสนล้านบาท โดย สบน.ได้จัดทำหนังสือแนวทางการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจและมีการจัดประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นใช้ให้รัฐวิสาหกิจมีการบริหารต้นทุนและดูแลความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ให้รัฐวิสาหกิจกระจายภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะ 1-3 ปี เพื่อลดความเสี่ยงการปรับโครงสร้างหนี้ และคำนึงถึงเครื่องมือกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างตามสภาวะตลาด

"แผนระดมทุนของรัฐบาลในปี 2561 เน้นกู้เงินในประเทศเป็นหลักเพราะมีปัจจัยบวกคือ สภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่สูง ขณะที่ยอดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทรงตัว ธปท.ลดการออกตราสารระยะสั้น ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้นักลงทุนยังลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยยังคงใช้กลยุทธ์การออกพันธบัตร 5-50 ปี มีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์เท่ากับปีก่อนคือ 3 หมื่นล้านบาท และให้นิติบุคคลต่างประเทศออกพันธบัตรเป็นเงินบาทได้" นายธีรัชย์ กล่าว

สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ส.ค. 2560 มี 6.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.92% ของจีดีพีเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้เพิ่มขึ้นสุทธิ 4.98 หมื่นล้านบาท