posttoday

คลังตุนเงินสด3.15แสนล.

29 กันยายน 2560

คลังโชว์ผลการจัดเก็บรายได้ 11 เดือนแรก โกยเงิน 2 ล้านล้าน มีเงินคงคลังกว่า 3.15 แสนล้าน มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจ

คลังโชว์ผลการจัดเก็บรายได้ 11 เดือนแรก โกยเงิน 2 ล้านล้าน มีเงินคงคลังกว่า 3.15 แสนล้าน มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีรายได้ 2.08 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 2.67 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 4.62 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2560 มี จำนวน 3.15 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงฐานะการคลังที่เข้มแข็งและพอเพียงสำหรับการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไป

สำหรับการเก็บรายได้ของรัฐบาลช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2560 มีจำนวน 2.08 ล้านล้านบาท เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยรายได้นำส่งคลังต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 5.9 หมื่นล้านบาท หรือ 2.8% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่นความถี่ 3จี 4จี และเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต TV Digital ในปีก่อน ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้นำส่งคลังปีนี้จะสูงกว่าปีก่อน 7.76 หมื่นล้านบาท หรือ 3.9%

ทั้งนี้  การเก็บรายได้ในส่วนของ 3 กรมภาษี ในส่วนของกรมสรรพากร เก็บได้ 1.58 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6.77 หมื่นล้านบาท หรือ 4.1% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 3.31 หมื่นล้านบาท หรือ 2.1% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 4.14 หมื่นล้านบาท ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่ำกว่าประมาณการ 2.49 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 1.14 หมื่นล้านบาท

ด้านกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 5.16 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.25 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 8.9% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2.07 หมื่นล้านบาท ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,023 ล้านบาท

ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 9.65 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.35 หมื่นล้านบาท หรือ 12.3% หรือต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 6.6% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 1.45 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมูลค่าต้องอากรลดลง สอดคล้องกับการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรระยะที่ 2 สูงกว่าที่ประมาณการ