posttoday

ซีไอเอ็มบีขึ้นชั้นแบงก์กลาง

09 พฤษภาคม 2560

ซีไอเอ็มบี ไทย วางยุทธศาสตร์ 5 ปีขึ้นชั้นแบงก์ขนาดกลาง ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลเหลือ ไม่เกิน 5%

ซีไอเอ็มบี ไทย วางยุทธศาสตร์ 5 ปีขึ้นชั้นแบงก์ขนาดกลาง ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลเหลือ ไม่เกิน 5%

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารจัดทำยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (2560-2565) เป้าหมายคือก้าวขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลาง จากปัจจุบันถูกจัดกลุ่มอยู่ในธนาคารขนาดเล็กเมื่อเทียบจากขนาดสินทรัพย์ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าและมีความสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง อีกทั้งป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตด้วย

ทั้งนี้ ได้มองหาโอกาสขยายธุรกิจจากการซื้อกิจการ (M&A) ไว้ด้วย ซึ่ง ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป เปิดทางให้สามารถทำได้หากมีโอกาสที่ดีเข้ามา ส่วนการควบรวมคงไม่ใช่ทางเลือกแรก ปัจจุบันธนาคารขนาดกลางมีสินทรัพย์ใหญ่กว่าธนาคารเล็ก 3-4 เท่า และควรมีความสามารถทำกำไรก่อนการหักสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี

สำหรับแผนการปรับโครงสร้างธนาคาร (CIMBT Tranforamation) ระยะ 5 ปี ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารเมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก (2560-2561) เป็นช่วงปรับปรุงผลการดำเนินงานภายใต้ 4 เป้าหมาย คือ 1.ลดอัตราต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income) จาก 57% ให้เหลือ 50% 2.เพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จาก 10.7% เป็น 11% 3.เพิ่มผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) จาก 4.4% เป็น 10% และ 4.มีกำไรในธุรกิจรายย่อย ซึ่งข้อสุดท้ายนี้บรรลุผลแล้วตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน จึงเตรียมตั้งเป้าให้สูงขึ้นอีก

แผนระยะที่ 2 (2562-2563) มุ่งสร้างขีดความสามารถใหม่ เพิ่มศักยภาพดูแลลูกค้าเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดเล็ก ส่วนลูกค้ารายย่อยจะต่อยอดการบริหารความมั่งคั่งไปสู่กลุ่มลูกค้าที่มั่งคั่งสูงมาก (Ultra High Networth) การยกระดับดิจิทัล แบงก์กิ้ง และแผนระยะที่ 3 (2564-2565) การใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายในอาเซียนยกระดับการให้บริการลูกค้าทุกระดับภายในปี 2565

สำหรับเป้าหมายอื่นในปีนี้ คือจะเพิ่มผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 6% สินเชื่อโต 5-10% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 3.8%

นายอาทิตย์ มาสถิรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า หนึ่งในจุดหลักที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน คือ การบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งธนาคารมีแผนทยอยขายเอ็นพีแอลออก อาจจะ 2 ครั้งในปีนี้ โดยในไตรมาส 2 จะขายเอ็นพีแอลของรายย่อยในหลักร้อยล้านบาท และครึ่งปีหลังอาจจะมีอีก เพื่อให้เอ็นพีแอลอยู่ในเป้าหมายที่ 5% ของ สินเชื่อรวม และพยายามเพิ่มอัตราการตั้งสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญเป็น 95% ในสิ้นปีนี้ จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 81%