posttoday

เครดิตไทยแข็ง ดึงนักลงทุนดันเศรษฐกิจ

17 เมษายน 2560

สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากญี่ปุ่น คือ Japan Credit Rating Agency หรือ JCR

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากญี่ปุ่น คือ Japan Credit Rating Agency หรือ JCR ได้พิจารณายืนยันคงเครดิตของไทยไว้ในระดับน่าลงทุน โดยคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยที่ระดับ A- สกุลเงินบาทที่ระดับ A และคงเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไว้ที่ระดับ A+ โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตของไทยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในไทย ยังมั่นใจเศรษฐกิจของไทยและพร้อมจะลงทุนต่อเนื่องในอนาคต

ผลของการจัดอันดับดังกล่าวยังช่วยเรียกความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2560 จาก 3.2% เป็น 3.4% และปี 2561 จะขยายตัวได้ 3.6%

ขณะที่กระทรวงการคลังที่คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 3.6% แต่ก็มีเป้าหมายที่ต้องทำให้ขยายตัวได้ 4% ซึ่งเป็นขั้นต่ำของการขยายตัวเศรษฐกิจที่เต็มศักยภาพที่ 4-5% นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้สูงกว่า 3% ซึ่งถือเป็นระดับที่ดีตามที่คาดไว้

หลังจากนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออันดับโลกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) จะทยอยคงอันดับเครดิตของประเทศไว้ระดับน่าลงทุนเหมือนเดิมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่ใช่นักลงทุนญี่ปุ่นเท่านั้นที่เห็นว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดีน่าลงทุน แต่นักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐก็สนใจลงทุนในไทย

ทั้งนี้ หากดูรายละเอียดการคงเครดิตของไทย ของ JCR ที่ออกมาล่าสุด มองว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการส่งออก ภาคการธนาคารมีความเข้มแข็ง รวมถึงสถานะทางการคลังที่เข้มแข็ง

ในขณะเดียวกันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เกิดจากการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคของภาคเอกชน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ JCR ยังคาดว่าการเดินหน้าปฏิรูปเชิงโครงสร้างของรัฐบาลปัจจุบัน ประกอบกับการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2560

JCR ได้รายงานว่าสถานะทางการคลังของไทยยังคงมีความเข้มแข็ง เนื่องจากการดำเนินงานของรัฐบาลอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างเข้มงวด ถึงแม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี 2560 และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ

ในขณะเดียวกันภาคธนาคารพาณิชย์ยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2559 ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อหนี้ทั้งหมด (NPL Ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

นอกจากนี้ JCR ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่าการเลือกตั้งในไทยจะจัดขึ้นภายหลังจากการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ โดย JCR จะติดตามความคืบหน้าในกระบวนการเลือกตั้ง และสถานการณ์ความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการเพื่อการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลต่อไป

เมื่อพิเคราะห์จากการประเมินของ JCR จะเห็นว่าพื้นฐานเครดิตของไทยมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะพื้นฐานด้านเศรษฐกิจถือว่ามีมุมมองเป็นบวกอย่างมาก ทาง JCR จะติดใจก็เหลือแต่ปัจจัยความเข้มแข็งทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเท่านั้นว่าจะออกมาอย่างไร หากการเลือกตั้งผ่านไปด้วยดีมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ย่อมส่งผลดีกับเศรษฐกิจและเครดิตของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้

ในทางตรงข้ามหากรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งไม่มีเสถียรภาพ และทำให้ไทยเดินเข้ามุมอัพเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จนกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ก็จะทำให้เครดิตของไทยมีปัญหาถูกลดเครดิตได้เช่นกัน

สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกให้ความสนใจติดตาม โดยที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น มูดี้ส์ และเอสแอนด์พี ก็มีความเห็นตรงกันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งทั้งภายในและต่างประเทศมีแต่เป็นห่วงเรื่องการเมือง ซึ่งในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาการเมืองของไทยถือว่ามีเสถียรภาพ สามารถดูแลความสงบปลอดภัยภายในประเทศได้ดี และมีแผนการบริหารและปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ได้ออกบทวิเคราะห์สถานะเครดิตของไทยว่าการรักษาอันดับความน&O3242;าเชื่อถือของประเทศมีความสำคัญ เพราะอันดับความน&O3242;าเชื่อถือในระดับสูงนั้นจะทำให้ต&O3243;นทุนการกู&O3243;เงินต่ำ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคเอกชนในการกู้เงินลงทุน รวมถึงส่งผลดีต่อรัฐบาลที่ยังต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาอันดับความน่าเชื่อถือของไทยได้ถูกปรับลดระดับลงหลายครั้งจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชียที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2539 จนถึงต้นปี 2541 และได้ส่งผลให้ต้นทุนในการกู้เงินสูงขึ้น

แต่ทว่าในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2556-2557 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทางลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือได้ แต่เนื่องจากไทยสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีระบบ ส่งผลให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ไม่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ถึงแม้ว่าในระยะสั้นบริษัทเหล่านี้จะยังไม่ประกาศปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ แต่ไทยก็ยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับน่าลงทุนไว้ได้ดังนั้น ความกังวลเสถียรภาพการเมืองในปัจจุบันของสถาบันจัดอันดับในปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วงน้อยกว่าในอดีตมาก ส่งผลให้เครดิตของไทยในอนาคตมีโอกาสได้ปรับเพิ่มเป็นผลดีกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ