posttoday

ศึกหนัก ธปท.เงินไหลเข้าดันบาทแข็ง

17 เมษายน 2560

ตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับคัดเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้สร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นในตลาดเงิน

ตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับคัดเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้สร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนโลกไม่หยุดหย่อน

ในช่วงเดือนแรกหลังพิธีสาบานตนของ ทรัมป์ ตลาดเงินคาดกันว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะดึงเงินกลับเข้าไปในสหรัฐ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย และนโยบายสหรัฐต้องมาก่อน ทำให้นักวิเคราะห์มองไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจของสหรัฐถึงจะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

แต่ผ่านมาเพียง 1-2 เดือน ความแน่ใจนี้เริ่มเปลี่ยนไป หากพิจารณาจากความเป็นไปได้ของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ไม่ว่าการลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ การดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ฯลฯ ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในตลาดโลก ทำให้เงินทุนบางส่วนยังเลือกไหลกลับเข้ามาลงทุนในภูมิภาคและไทยเพิ่มขึ้น

เห็นได้จาก 2 เดือนแรกของปีนี้ ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไหลเข้าสุทธิ จากการรายงานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังพบว่าไหลเข้าไทยสุทธิ 2,643 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 1-12 เม.ย.ของนักลทุนต่างชาติที่มีมูลค่ารวม 2,447 ล้านบาท

เช่นเดียวกับการเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) ไทย ของนักลงทุนต่างชาติก็มีเข้ามาต่อเนื่องในปีนี้ โดยเดือน ม.ค.มีมูลค่า 1,004 ล้านบาท เดือน ก.พ. 1,470 ล้านบาท และเดือน มี.ค. 4,014 ล้านบาท โดยมียอดคงค้างการถือลงทุนรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุว่า เม็ดเงินต่างประเทศมีโอกาสที่จะไหลเข้าตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรรวมถึงหุ้นกู้ด้วย ราคาหุ้นปัจจุบันทำให้หุ้นไทยมีโอกาสขึ้นได้อีกเล็กน้อย

“ทิสโก้ให้ดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,650 จุด อิงอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปีนี้ไม่เกิน 10% แนะนำคือที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ เช่น ค้าปลีก เพราะคาดว่ากำลังซื้อจะกลับมาโดยเฉพาะต่างจังหวัดตามการฟื้นตัวราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้น ส่วนการมีรัฐธรรมนูญเป็นผลทางอ้อมเพราะกำหนดการออกมาพักใหญ่” ไพบูลย์ กล่าว

สอดคล้องกับมุมมองของ ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า เงินต่างชาติเริ่มกลับมาในหุ้นไทยเห็นได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า จากเดิมที่มองว่าจะไหลกลับสหรัฐ ส่วนความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศกระทบหุ้นไทยน้อยมาก แม้เป็นเรื่องยากที่จะประเมินยากมากว่าเงินจะไหลเข้าหรือออกไปไหน ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงแนวรับที่ 1,550 จุด น่าจะรับมือได้

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศหลังสหรัฐยิงขีปนาวุธใส่ซีเรียที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย หากไม่เกิดความรุนแรงที่มากกว่านี้ แต่สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้น จะดีต่อหุ้นไทยที่หุ้นพลังงานมีสัดส่วนที่สูง เริ่มเห็นต่างชาติซื้อหุ้นไทยหลายวันติดต่อกัน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ทำให้เห็นทิศทางประเทศไทยชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน ส่วนรายได้ของเกษตรกรก็เพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐมีความต่อเนื่องเห็นได้จากรัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยยังมองดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,680 จุด เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มเดิม คือ ธนาคารพาณิชย์และรับเหมาก่อสร้าง

ผลจากการไหลเข้าของเงิน สะท้อนออกมาในค่าเงินบาท ภาวะตลาดการเงินไทยในรอบปีที่แล้วมาจนถึงไตรมาสแรกปีนี้ ต้องยอมรับว่าผันผวนค่อนข้างมาก โดยกลางปีที่แล้วเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 35.60-35.70 บาท/เหรียญสหรัฐ ก่อนที่ปลายปีที่จะอ่อนค่าลงอีกแตะระดับ 36 บาท

อย่างไรก็ดี นับจากเดือน ม.ค.ปีนี้มาจนถึงปัจจุบันเงินบาทก็ทยอยขยับแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 36 บาท/เหรียญสหรัฐ มาแตะที่ระดับประมาณ 34.35-35.50 บาท คิดเป็นการแข็งค่าจากต้นปีถึงปัจจุบันประมาณ 4%

ไพบูลย์ กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าส่วนหนึ่งเพราะไทยมีดุลบัญชีเงินสะพัดที่แข็งแรงจนทำให้ต่างชาติเชื่อมั่น และหากรัฐบาลเร่งการลงทุนโครงการภาครัฐก็จะทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นขึ้นอีก และเริ่มเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่างปรับมุมมองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยจะดีขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ไม่ใช่ปัจจัยในต่างประเทศเท่านั้นที่กดดันให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น เพราะดูเหมือนปัจจัยในประเทศไทยเอง จากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มโตได้ในระดับที่ดี ปีนี้ ธปท.คาดว่าจะโตที่ 3.4% กระทรวงการคลังคาดว่าจะโตที่ระดับ 3.4% หรืออาจจะเพิ่มเป็น 4% ก็ได้ หลังรัฐบาลพยายามผลักดันงบประมาณกลางปี 2560 ออกมาเพิ่มเติมอีก 1.9 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังเกินดุลสูง ธปท.คาดว่าปีนี้จะเกินดุลอีกประมาณ 3.69 หมื่นล้านบาท ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงเมื่อเทียบกับหนี้ระยะสั้นในต่างประเทศ ล่าสุด ณ สิ้นเดือน มี.ค.อยู่ที่ 2.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

จากองค์ประกอบข้างต้น บวกพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีเสถียรภาพ กลายเป็นสนับสนุนให้เงินบาทในระยะต่อไป มีโอกาสเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้มากกว่าที่จะอ่อนค่าลง ซึ่งนักค้าเงินบางรายคาดการณ์ว่าในไตรมาส 2 ปีนี้อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าสูงสุดไปแตะที่ระดับ 34.10-34.20 บาท ก็เป็นได้

ดังนั้น เรื่องนี้จะเป็นแรงกดดันต่อ ธปท.ในระยะต่อไป ที่จะต้องดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ความผันผวนสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังเริ่มจะไปได้ดี สิ่งที่ ธปท.ทำในการรับมือในช่วงต้นปีนี้ คือ การออกมาตรการลดการออกบอนด์ระยะสั้น 3 เดือน และ 6 เดือนในเดือน เม.ย.ลงประเภทละ 1 หมื่นล้านบาท/สัปดาห์ จากที่เคยออกสัปดาห์ละ 4 หมื่นล้านบาท เหลือ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อจะลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ให้ขนเงินเข้ามาลงทุนในตลาดบอนด์มากนัก จนเป็นแรงกดดันให้เงินบทแข็งค่าขึ้นไปอีก

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวที่ 3.3% แต่ภาคส่งออกน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นเป็น 2% จากความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นและราคาสินค้าสูงขึ้น แต่มีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาส่งออกที่เป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ทำให้ราคาเปรียบเทียบนำเข้า-ส่งออก (Terms of Trade) แคบลง ไทยส่งออกสินค้าในราคาที่ถูกกว่าที่นำเข้า กระทบกับดุลการค้า และการที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ส่งออกแลกเงินเหรียญสหรัฐมาเป็นค่าเงินบาทได้น้อยลง มีผลต่อกำไรของผู้ประกอบการ ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านลบ (Down Side Risk) ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินโลกในปีนี้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง แถมล่าสุดตลาดเงินโลกยังหันมาให้ความสนใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งปัญหาระหว่างสหรัฐกับซีเรีย หรือความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้นด้วย ทำให้ระยะสั้นนี้เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนได้ทั้งสองทิศทางด้วยเช่นกัน