posttoday

"บิ๊กตู่"กดปุ่มแก้หนี้นอกระบบ

01 มีนาคม 2560

นายกฯ เปิดโครงการแก้หนี้นอกระบบ คลังลั่นช่วยแก้ไขปัญหาได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านรายภายในปีนี้ สมาคมแบงก์แนะลูกหนี้ ตั้งเป้าภาระผ่อนจ่ายไม่เกิน40%ของรายได้แต่ละเดือน

นายกฯ เปิดโครงการแก้หนี้นอกระบบ คลังลั่นช่วยแก้ไขปัญหาได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านรายภายในปีนี้ สมาคมแบงก์แนะลูกหนี้ ตั้งเป้าภาระผ่อนจ่ายไม่เกิน40%ของรายได้แต่ละเดือน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า วันนี้ (1 มี.ค.) รัฐบาลจะเปิดตัวโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอก ระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน พร้อมกันนี้ นายกฯ จะเป็นสักขีพยานในการมอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้กำกับ หรือสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์

ทั้งนี้ ในปี 2560 กระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายแก้หนี้นอกระบบไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการแห่งรัฐ หรือการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยจำนวนกว่า 8.3 ล้านคน ในจำนวนนี้แจ้งว่ามีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบอยู่กว่า 1.3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 1.3 แสนล้านบาท

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ในฐานะเป็นประธานคณะทำงานด้านแผนงานส่งเสริมความรู้การเงินแก่ภาคประชาชน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจการวัดระดับทักษะทางการเงินขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวม 30 ประเทศเมื่อปี 2557-2558  พบว่า ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 17 ด้วยคะแนน 12.8 จากคะแนนเต็ม 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 13.2 และต่ำกว่าฮ่องกงและเกาหลีใต้ ที่อยู่ในอันดับที่ 5 และ 7 ตามลำดับ สะท้อนถึงช่องว่างของความรู้ทางการเงินของไทย ที่ต้องเร่งส่งเสริม

ทั้งนี้ จะส่งเสริมความรู้เป็นอันดับแรก คือ การก่อหนี้เกินตัว เห็นได้ จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง จึงได้ออกแคมเปญ "เทรนหนี้" มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ เจนวายมีวินัยการเงิน ผ่านสโลแกนสั้นๆ คือ ให้มีภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน

"เป้าหมายเราต้องการให้คะแนนความรู้ทางการเงินของคนไทยขึ้นเทียบเท่าฮ่องกงและเกาหลีใต้ภายใน 5 ปี หรือสิ้นสุดปี 2563" นายบุญทักษ์ กล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย ประธาน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ไม่คาดหวังว่าโครงการนี้จะลดสัดส่วน หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปัจจุบันอยู่ระดับกว่า 80% แต่ในระยะสั้นต้องการให้ประชาชนได้มีความรู้ และระมัดระวังการก่อหนี้ ขณะที่เพดานภาระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 40% นั้นเหมาะสมสำหรับครัวเรือน แต่ไม่ได้เป็นเกณ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคาร