posttoday

'โลกพลังงานที่เปลี่ยนไป'

19 กุมภาพันธ์ 2560

แต่เดิมการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั่วโลก ส่วนใหญ่ก็เป็นโรงไฟฟ้าฟอสซิล ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมัน

โดย...ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ [email protected]

แต่เดิมการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั่วโลก ส่วนใหญ่ก็เป็นโรงไฟฟ้าฟอสซิล ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมัน โดยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยบางส่วน ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ประกอบด้วยชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลม และพลังน้ำ มีสัดส่วนไม่มากนัก

ดังนั้น โรงไฟฟ้าที่แต่ละประเทศใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงเป็นฟอสซิล และจะยังคงอยู่อีกหลายสิบปี เพราะแต่ละโรงไฟฟ้าก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี

แล้วพลังงานหมุนเวียนก็มีการเติบโตที่เร็วมากอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กำลังผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.6% ในขณะที่โรงไฟฟ้าฟอสซิลและนิวเคลียร์มีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 2.8% ต่อปี

ยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.8% ต่อปี ตรงกันข้ามกับฟอสซิลและนิวเคลียร์ที่มีอัตราเพิ่มน้อยลงไปมาก

ในปี 2558 เป็นปีที่พลังงานหมุนเวียนมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือ 9.3% โดยเพิ่มขึ้นทุกประเภท ทั้งพลังลม 6.6 หมื่น MW แสงอาทิตย์ 4.7 หมื่น MW รวมทั้งชีวมวลและก๊าซชีวภาพอีก 8,000 MW เทียบได้กับ 3 เท่าของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของไทยในปัจจุบัน และยังมากกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลและนิวเคลียร์ทั่วโลก ซึ่งเท่ากับ 9.7 หมื่น MW

ส่งผลให้การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั่วโลกเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนมากกว่าฟอสซิลและนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2555 และมีแนวโน้มทิ้งห่างมากขึ้นๆ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

การลดลงของต้นทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนของกังหันลมลดลงประมาณ 30% ในขณะที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ต้นทุนลดลงถึง 80% ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าเฉลี่ยของโครงการแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ใกล้เคียงหรือเท่ากับฟอสซิลแล้วในหลายประเทศ ส่วนพลังงานชีวมวลและกังหันลมบนแผ่นดินมีราคาที่แข่งขันได้หรือต่ำกว่าฟอสซิลแล้ว

การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว ก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก และเป็นสัดส่วนที่มากกว่าการพัฒนาฟอสซิลและนิวเคลียร์อย่างมาก ดังเช่นอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของเยอรมนี จ้างงานมากเป็นอันดับสอง รองจากอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น หรือในประเทศเดนมาร์ก อุตสาหกรรมกังหันลมประเภทเดียว ก็จ้างงานมากกว่าอุตสาหกรรมฟอสซิลทั้งหมดรวมกันแล้ว

ประเทศจีนมีการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลกถึง 3.5 ล้านตำแหน่ง (Jobs) ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บราซิล 9.2 แสนตำแหน่ง อินเดีย 4.2 แสนตำแหน่ง อินโดนีเซีย 2.23 แสนตำแหน่ง และบังกลาเทศ 1.29 แสนตำแหน่ง

การจ้างงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก ไม่เฉพาะในด้านการสร้างรายได้ แต่ยังหมายถึงการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย

ทั้งนี้ การจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนที่มีจำนวนมากที่สุด อยู่ในส่วนของการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อันดับสองคือ ส่วนของการจัดหาและจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลหรือชีวภาพ ในขณะที่การผลิตเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนที่จ้างงานรองลงมา

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเราพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ประมาณ 6,000 MW แล้วในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีศักยภาพพัฒนาได้อีกมาก

เราจะเลือกมองกระแสโลกนี้อย่างไร

เราจะยังสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นฟอสซิล ด้วยเหตุผลที่ว่า โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในโลกส่วนใหญ่ยังเป็นฟอสซิล และสามารถตอบสนองความมั่นคงทางพลังงานได้ด้วยวิธีเดิมที่ทำกันมาตลอด

ซึ่งย่อมจะทำให้ประเทศเราเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้นๆ จากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโอกาสทางเศรษฐกิจในการจ้างงานจำนวนมาก และโอกาสการเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนที่เข้าไปลงทุนและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีบริบทคล้ายกัน โดยเฉพาะชีวมวลและก๊าซชีวภาพ

หรือเราจะเปลี่ยน โดยพิจาณาพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เป็นตัวเลือกแรก ในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ดังที่หลากหลายประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ โดยหาทางพัฒนาการบริหารจัดการระบบพลังงานแบบใหม่ๆ ให้มีความมั่นคงทางพลังงานได้ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ

ท่านผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูในรายงานเรื่อง Rethinking Energy 2017 โดย International Renewable Energy Agency (IRENA) ที่ http://www.irena.org ซึ่งยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพของหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น ชิลี อุรุกวัย หรือโคลัมเบีย มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าโดยภาพรวมสูงกว่าของประเทศไทยหลายเท่าตัว ซึ่งผมจะได้มาเล่าให้ฟังในครั้งต่อๆ ไปครับ