posttoday

คลังโชว์ฐานะการเงินแกร่ง

10 กุมภาพันธ์ 2560

คลังประเมินฐานะการเงินการคลังระยะกลาง 5 ปี ยังแข็งปึ้ก คุมหนี้สาธารณะไม่เกิน 46% ต่อจีดีพี มั่นใจรองรับเศรษฐกิจผันผวนได้

คลังประเมินฐานะการเงินการคลังระยะกลาง 5 ปี ยังแข็งปึ้ก  คุมหนี้สาธารณะไม่เกิน 46% ต่อจีดีพี มั่นใจรองรับเศรษฐกิจผันผวนได้

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินฐานะการคลังของประเทศในระยะปานกลาง 5 ปี ช่วงปี 2560-2564 พบว่ายังมีเสถียรภาพดี โดยหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2560 คาดว่าอยู่ที่ 44.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 46.3% ในปีงบประมาณ 2564 ด้านระดับภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ ในระดับ 8.3% ในปีงบประมาณ 2560 และเพิ่มขึ้นเป็น 10.2% ในปีงบประมาณ 2564

รัฐบาลมีนโยบายลดการขาดดุล งบประมาณ เพื่อให้การทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลโดยเร็ว อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2560 เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องงบประมาณขาดดุลจนกว่าเศรษฐกิจ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ด้านสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ย 21% ตลอดช่วงปีงบประมาณ 2560-2564 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากรายจ่ายประจำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายผลักดันการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในปี 2560-2562 ผ่านมาตรการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPPs) และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) เพื่อเป็นการทดแทน

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจเองอีกส่วนหนึ่งซึ่งจะช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐบาลในการระดมทุนเพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้ภาพรวมการลงทุนของภาครัฐสอดคล้องตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง

ทั้งนี้ กรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ จีดีพีไม่เกิน 60% ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15% ต้องมีการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล และสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายไม่ต่ำกว่า 25%

ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้ออกมาชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่าเงินคงคลังของรัฐบาลเหลือ 7 หมื่นล้านบาท ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยระบุว่าฐานะการคลังแข็งแกร่งและยืนยันว่ารัฐบาลมีแผนจัดการบริหารเงินคงคลังที่ดี เพราะไม่ต้องกู้เงินมากองไว้และไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และเมื่อมีการจัดเก็บรายได้จากเงินภาษีได้ตามเป้าที่วางไว้ ปลายปีเงินคงคลังจะกลับมาอยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับปีอื่นๆ รวมทั้งเตรียมศึกษาแก้กฎหมายของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยไม่ต้องเร่งกู้เงินในช่วงปลายปีงบประมาณ