posttoday

ชูออมสินพี่เลี้ยงไอทีแบงก์รัฐ

31 มกราคม 2560

ดึงออมสินเป็นพี่เลี้ยงตั้งบริษัทกลางวางระบบคอร์แบงก์กิ้งให้แบงก์รัฐ เอสเอ็มอีแบงก์และเอ็กซิมแบงก์ร่วมวง

ดึงออมสินเป็นพี่เลี้ยงตั้งบริษัทกลางวางระบบคอร์แบงก์กิ้งให้แบงก์รัฐ เอสเอ็มอีแบงก์และเอ็กซิมแบงก์ร่วมวง

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยี หรือคอร์แบงก์กิ้ง ว่า ธนาคารออมสิน ติดเรื่อง พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เข้ามาวางระบบและให้บริหารคอร์แบงก์กับ ธพว.แล้วรับค่าตอบแทนได้

ดังนั้น ที่ประชุมสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ จึงเห็นชอบให้ธนาคารออมสินเป็นแกนนำในการจัดตั้งบริษัทที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อมาบริหารจัดการ คอร์แบงก์กิ้ง โดยมีธนาคารออมสินทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เบื้องต้น คาดว่าจะมี 2 ธนาคารที่เข้ามาใช้บริการบริษัทคอร์แบงก์ คือ ธพว. และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์

ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ กล่าวว่า ธปท.และกระทรวงการคลัง เห็นชอบให้ธนาคารออมสินเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาระบบคอร์แบงก์กิ้งร่วมกันกับแบงก์รัฐที่ยังไม่มีความพร้อม และสามารถขออนุมัติการนำเงินจากกองทุนพัฒนาแบงก์รัฐ ซึ่งแบงก์รัฐทั้งระบบได้ดำเนินการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ในอัตรา 0.25% ของฐานเงินฝาก

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2560 จะมียอดนำเงินเข้าสมทบกองทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของธนาคารออมสิน 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่นำเงินสมทบเข้ากองทุน 3,600 บาท

สำหรับขั้นตอนการพัฒนานั้นอยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานศึกษาข้อดี ข้อเสีย รวมถึงข้อจำกัดในการทำธุรกรรมทางการเงินของแต่ละแบงก์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ รวมถึงต้องมองไปถึงการพัฒนาของระบบการเงินในอีก 3-5 ปีข้างหน้าด้วย เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ไม่มีดอกเบี้ยรับ หากต้องเข้ามาใช้ระบบกลางจะทำอย่างไร หรืออย่างกรณีของเอ็กซิมแบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์ก็มีธุรกรรมทางการเงินบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน หากต้องมาใช้ระบบเดียวกันจะต้องให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นคิดรูปแบบการพัฒนาบนข้อจำกัดที่มีอยู่ทั้งหมดให้ได้ก่อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบคอร์แบงก์ที่สามารถรองรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มของแบงก์รัฐ ที่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ