posttoday

‘อาทิตย์’ แจงสินเชื่อปกติ ให้กู้ ‘พิชญ์’ ซื้อ JAS

07 มกราคม 2560

กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทักท้วงเรื่องการปล่อยกู้วงเงิน 4.25 หมื่นล้านบาท

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงศ์

กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทักท้วงเรื่องการปล่อยกู้วงเงิน 4.25 หมื่นล้านบาท ให้ พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท
จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนซื้อหุ้น JAS จำนวน 4,091.73 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7.25 บาท และซื้อใบสําคัญแสดงสิทธิJAS-W3 จำนวน 2,733.60 ล้านหน่วย ราคาหน่วยละ 3.68 บาท

โดยการทักท้วงครั้งนี้ ธปท.ส่งหนังสือถึง อานันท์ ปันยารชุน ในฐานะนายกกรรมการและกรรมการอิสระของธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้งส่งถึงคณะกรรมการ (บอร์ด) ของธนาคารไทยพาณิชย์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการปล่อยกู้ให้ตัวบุคคลในวงเงินที่สูง โดยผ่านคณะกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้อนุมัติ แต่ไม่ได้เสนอบอร์ดใหญ่ ซึ่งอาจจะทำให้การดูแลบริหารความเสี่ยงไม่รัดกุมเพียงพอนั้น

ข่าวนี้สร้างความฮือฮาให้กับวงการพอสมควร เพราะที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์จะสร้างความหวือหวาในการปล่อยกู้ให้ได้กล่าวขานกันหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งนี้เป็นการให้กู้ส่วนบุคคลเพื่อซื้อหุ้น ที่น่าติดตามถึงวิธีคิด วิธีวิเคราะห์สินเชื่อครั้งนี้ว่าพิจารณาจากพื้นฐานอะไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ หลังจากที่ พิชญ์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2559 นั้น อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยชี้แจงว่า ธนาคารวิเคราะห์สินเชื่อประเภทนี้ เป็นธุรกิจปกติ เป็นกรีนฟิลด์

อาทิตย์ ระบุว่า การที่ พิชญ์ ซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่จนมากกว่า 25% และเกิดกระบวนการทำคำซื้อเสนอหุ้น (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ซึ่งไม่ใช่ส่วนของบริษัท แต่เป็นของเจ้าของบริษัท คือ
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท การมีหุ้นเพิ่มจากที่เคยถือ อาจทำให้เขามีอำนาจควบคุมมากขึ้นในการช่วยและการบริหารบริษัท

“พิชญ์อาจจะเชื่ออนาคตของบริษัท เพราะเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและสร้างบริษัทขึ้นมา การอยากจะถือหุ้นเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องทั่วไป ถ้าทำได้ ธนาคารก็ดูว่าธุรกิจก็มีกระแสเงินสด (Cash Flow) ค่อนข้างแข็งแรง ปัจจุบันเป็นหลัก5,000 ล้านบาทขึ้นไป มองไปข้างหน้าเขามีโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น (Stake) ในบริษัทที่ตัวเองเป็นผู้บริหาร” อาทิตย์ กล่าว

อาทิตย์ ระบุว่า JAS นั้น ทำธุรกิจบรอดแบนด์ มีโครงสร้างพื้นฐานเป็นไฟเบอร์ออปติกอยู่ มีลูกค้าอยู่ในมือ มีรายได้ก่อนหักภาษี (Ebitda) ขณะที่ พิชญ์ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีผลการดำเนินงาน (Performance) เหล่านี้ การไปถือหุ้นเพิ่มในบริษัทที่มีผลการดำเนินงาน ในมุมมองของแบงก์ในฐานะที่เป็นผู้ให้สินเชื่อ มองว่า ง่ายมาก ไม่ต้องไปพิสูจน์ว่าเอาเงินไปลงทุนแล้วจะมีรายได้หรือเปล่า เพราะหุ้นที่ซื้อมามีรายได้เป็นเงินปันผล (Dividend) อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากที่จะให้เงินให้กับเจ้าของบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับให้เงินกับบริษัทไปลงทุน

ทั้งนี้ การให้กู้แก่ พิชญ์ นั้น ธนาคารจะดู 1.เจ้าของหรือผู้บริหารต้องเป็นคนที่เหมือนกับมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในหลายธุรกิจ เจ้าของหรือ Founder ไม่ได้มีหุ้นใหญ่

2.กระแสเงินสด หรือแคชโฟลว์ของบริษัทที่บริหาร เมื่อเทียบต่อราคาหุ้นแล้ว ต้องมีความพอดี เพียงพอต่อการที่กู้เงินแบงก์ไปซื้อแล้ว แคชโฟลว์พอคืนหนี้ได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าแบงก์ไม่ทำให้ คือ มันจะเป็นลักษณะที่เมื่อมีฟาวเดอร์หรือผู้บริหารมีหุ้นจำนวนไม่มาก แต่อยากจะได้หุ้นมากขึ้น ถ้าแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ผู้บริหารนั้นก็ไม่มีเงินไปซื้อหุ้นนั้น แต่แบงก์จะปล่อยเพราะอะไร เพราะหุ้นของบริษัทที่เขาบริหารต้องมีการไหลเวียนของกระแสเงินสด (แคชโฟลว์) เมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ไปซื้อแล้ว ต้องเพียงพอ ถ้าเกิดแคชโฟลว์บางไป เช่น ถ้ามีกรณีอื่นอยากจะไปทำ อยากจะกู้เพื่อซื้อหุ้นมาบ้าง แต่ปรากฏว่าผลประโยชน์ หรือแคชโฟลว์ ของหุ้นที่ไปซื้อมาไม่พอจ่ายหนี้แบงก์ได้ แบงก์ก็ไม่ปล่อย ดีลก็ไม่เกิด แต่เคสนี้มันเห็นชัดว่าแคชโฟลว์เมื่อเทียบกับเงินที่เขาเอาไปซื้อมันเพียงพอ ณ ราคานี้ เขาสามารถกู้เงินแบงก์ได้

สรุป การให้กู้ครั้งนี้เป็นการให้กู้บุคคล ให้ พิชญ์ กู้ไปเพื่อซื้อหุ้น JAS โดยวิเคราะห์จากแคชโฟลว์ ของ JAS ว่าเพียงพอจะดึงให้ขึ้นมาเป็นรายได้ เป็นแคชโฟลว์ของ พิชญ์ ในฐานะเจ้าของได้ และต้องแยกก่อนว่า ถ้า พิชญ์ เขากู้วงเงินน้อย แปลว่า เขาซื้อหุ้นได้น้อย การคืนหนี้ก็ง่ายมาก เพราะเขาถือหุ้นอยู่แล้ว ก็มีเงินปันผล ที่จะเอามาคืนหนี้ได้ง่ายๆ แต่ถ้าผู้ถือหุ้น JAS เอาหุ้นมาขายทั้งหมดเลย พิชญ์ ก็กู้เยอะ แต่ได้คุมทั้งหมดของบริษัท เงินบริษัทก็จะเป็นเงินของเขา สมมติว่า ผู้ถือหุ้น 100% ขายให้เขา บริษัทนี้มีแคชโฟลว์ 5,000 ล้านบาท เขาก็สามารถได้ดิวิเดนด์ขึ้นมา 5,000 ล้านบาทได้เลย

แต่ถ้าสมมติธนาคารให้กู้ไปซื้อหุ้น 4 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทมีอีบิตดาอยู่สมมติว่า 1,000 ล้านบาท ใครจะไปปล่อยกู้ได้ มันปล่อยกู้ไม่ได้ มันต้องดูความสมดุลระหว่างเงินที่ต้องใช้กับแคชโฟลว์ที่จะได้มาก ซึ่งบริษัทที่มีแคชโฟลว์ดีๆ ส่วนใหญ่เจ้าของเก็บหุ้นไว้หมดแล้ว ไม่งั้นก็เป็นบริษัทมหาชนจริงๆ ขนาดใหญ่มากๆ เช่น ปตท.

“นี่พูดแบบคร่าวๆ นะ มันมีรายละเอียดวิธีการ ยังมีเทคนิคในอนาคตทำได้หลายรูปแบบ เช่น ทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราฟันด์อีกได้ไหม ก็ได้ ซึ่งเขาก็เคยทำไปแล้ว ก็ยังทำได้อีก แต่คงไม่หวือหวาอะไร คือเป็นไปตามแพลนเดิมที่เขาตั้งใจจะทำอยู่” อาทิตย์ กล่าว

อาทิตย์ ระบุว่า ข้อมูลดีลการให้กู้ พิชญ์ เพื่อซื้อหุ้น JAS ครั้งนี้ เป็นคนละมิติกับการปล่อยกู้ JAS เพื่อร่วมประมูลคลื่น 4จี โดยที่ตอนนั้นบริษัทยังไม่รู้เลยว่า ประมูลเสร็จแล้วจะมีกระแสเงินสดหรือเปล่า จะต้องใช้เงินลงทุนอีกเท่าไหร่ จะมีรายได้กลับมาจริงไหม ขณะที่ทำการประมูลยังไม่มีคำตอบเหล่านี้

“เป็นคนละเรื่องกันกับการให้เงินกู้แก่ผู้ถือหุ้น ครั้งนี้เราให้ผู้ถือหุ้นเอาเงินที่กู้ไปซื้อหุ้น สมมติฐานที่จะเกิดขึ้นคือ เขาจะซื้อหุ้นได้มาก ถ้ามีผู้ถือหุ้นนำหุ้นมาขายมากหรือเขาซื้อได้น้อย ถ้าซื้อได้มากก็กู้เงินแบงก์มาก กู้เงินแบงก์มากก็เป็นเจ้าของกระแสเงินสดคนเดียว ถ้ากู้เงินแบงก์น้อย ก็มีหนี้น้อย” อาทิตย์ ระบุ

อาทิตย์ กล่าวว่า ดีลนี้ ทีมวาณิชธนกิจ (ไอบี) เป็นผู้ดำเนินการ มีการกู้เงิน แต่ค่าธรรมเนียมเกิดจากการบายเอาต์ (Buyout) เขามาให้ธนาคาร เป็นที่ปรึกษา และหลังจากนั้น JAS จะใช้บริการอื่นของธนาคารทั้งหมด เช่น การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ผ่าน บล.ไทยพาณิชย์ เป็นต้น

อาทิตย์ ระบุว่า กิจกรรมแบบนี้ในประเทศไทยในระบบอาจเกิดขึ้นได้อีก ธนาคารไทยพาณิชย์เคยทำเรื่องแบบนี้มาแล้ว 2-3 ดีล แต่เป็นวงเงินกู้เล็กๆ น้อยๆ และยังมีโอกาสในระบบอีกแต่ในรูปแบบอื่น ในลักษณะอื่น ในวัตถุประสงค์อื่น หรือแม้แต่รูปแบบเดียวกับ JAS ก็ยังมี จังหวะนี้ยังมีโอกาสในตลาดอยู่

น่าติดตามต่อไปว่า วิธีคิด วิธีวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อบุคคลเพื่อซื้อหุ้น ในกรณี การปล่อยกู้ให้ พิชญ์ เพื่อซื้อหุ้น JAS ครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ประสบความสำเร็จในด้านของรายได้ และการให้ธนาคารอยู่ในใจลูกค้า พร้อมจะใช้บริการอย่างครบวงจรตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

และคำแนะนำจาก ธปท.ถึงคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในการคิดและวิเคราะห์สินเชื่อรูปแบบนี้