posttoday

ส่งออกรับไหวบาทอ่อน

26 พฤศจิกายน 2559

แบงก์กรุงศรี ชี้ค่าบาทอ่อนไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ยังอยู่ในกรอบรับมือไหว

แบงก์กรุงศรี ชี้ค่าบาทอ่อนไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ยังอยู่ในกรอบรับมือไหว

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก เพราะเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ประมาณการไว้ คือ อ่อนค่าสุดไม่เกิน 36 บาท/เหรียญสหรัฐ และแข็งค่าสุดไม่เกิน 34 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 35.93 บาท/เหรียญสหรัฐ ก็ยังอยู่ในแผนกรอบการบริหารความเสี่ยงอยู่

ทั้งนี้ ประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่าหนักมากไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศนั้นอย่างเดียว แต่การที่เงินไหลออกหนักอาจกระทบกับเสถียรภาพและมุมมองนักลงทุนต่อประเทศนั้นไม่ดีนัก ขณะที่ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่า 2% เป็นระดับที่ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงินและตลาด มองว่าสมเหตุสมผลและมีเสถียรภาพเป็นที่น่าพอใจ

สำหรับความเคลื่อนไหวค่าเงินในภูมิภาคระหว่างวันที่ 9-25 พ.ย. 2559 หลังจากทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ต่างอ่อนค่าลงจากเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้น โดยเงินเยนอ่อนค่ามากที่สุดถึง 7.13% ส่วนในอาเซียน ริงกิตมาเลเซียอ่อนค่ามากที่สุด 5.38% รูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่า 3.46% เปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 2.69% และเหรียญสิงคโปร์อ่อนค่า 2.29% ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 2.14% น้อยที่สุดเทียบกลุ่มอาเซียน 5 และตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 15 พ.ย. เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.8%

อย่างไรก็ดี ประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 35.75 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่คาดว่าขึ้น 0.25% ในปีนี้ และขึ้นอีก 0.5% ในปีหน้าสู่ระดับ 1% ส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า และเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เมื่อนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐชัดเจนขึ้นและค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพจากการเป็นสกุลในตะกร้าเงินสำรองระหว่างประเทศ ประมาณการเงินบาทสิ้นปีหน้าอยู่ที่ 35.25 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยเคลื่อนไหวกรอบ 34.25-37 บาท/เหรียญสหรัฐ