posttoday

ภาษีที่ดินใหม่ส่อเลื่อนเสร็จไม่ทันปี 2560

07 ตุลาคม 2559

ภาษีที่ดินส่อเลื่อน อาจใช้ไม่ทันปี 2560 คลังยันไม่กระทบรายได้รัฐ ส่วนอัตราจัดเก็บยังคงเดิม

ภาษีที่ดินส่อเลื่อน อาจใช้ไม่ทันปี 2560 คลังยันไม่กระทบรายได้รัฐ ส่วนอัตราจัดเก็บยังคงเดิม

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีกำหนดใช้ในปี 2560 โดยคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ จะนำร่างกฎหมายเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอีกครั้ง ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่หากต้องมีการปรับแก้ไขร่างกฎหมาย อาจส่งผลให้การประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้มีความล่าช้ากว่ากำหนดได้ แต่ตามกระบวนการพิจารณากฎหมายส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน

"แต่หากพิจารณาไม่ทันตามกำหนดที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2560 ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี ของรัฐบาล เพราะรายได้ส่วนนี้จะให้กับท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ จึงนับเป็นรายได้ของท้องถิ่นมากกว่า" รมช.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ รวมทั้งเพิ่มการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จากปัจจุบันจัดเก็บได้ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 6 หมื่นล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากประเภทพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ อัตราการจัดเก็บภาษี ที่กำหนดไว้ยังคงเดิม คือมีเพดานอัตราการจัดเก็บสูงสุด แต่การจัดเก็บจริงจะมีอัตราต่ำกว่าที่กำหนดไว้ โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทเกษตรกรรม มีเพดานจัดเก็บสูงสุดไว้ที่ 0.2% แต่อัตราการจัดเก็บจริงจะยกเว้นให้กับมูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนประเภทบ้านพักอาศัย มีเพดาน จัดเก็บสูงสุด 0.5% แต่จัดเก็บจริงเหมือนกับประเภทเกษตรกรรม คือ ยกเว้นมูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสีย ภาษี ในบ้านหลังแรก ส่วนบ้านหลังที่สอง จะจัดเก็บตามอัตราแบบขั้นบันได โดย จัดเก็บตั้งแต่บาทแรก

ขณะที่ประเภทพาณิชยกรรมและอื่นๆ มีอัตราเพดานสูงสุด 2% โดยมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 20 ล้านบาท เก็บ 0.3% ส่วนมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ 20-50 ล้านบาท คิด 0.5% 50-100 ล้านบาท คิด 0.7% 100-1,000 ล้านบาท คิด 0.9% 1,000-3,000 ล้านบาท คิด 1.2% และตั้งแต่ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป คิด 1.5% ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะมีเพดานสูงสุด 5% แต่จะจัดเก็บจริงตามที่ดินไม่ทำประโยชน์ หรือทิ้งไว้ว่างเปล่า กำหนดเก็บในปีที่ 1-3 อัตรา 1% ปีที่ 4-6 อัตรา 2% และปีที่ 7 ขึ้นไป คิด 3%