posttoday

ไอแบงก์โล่ง คลังอัดทุน 1หมื่นล้าน

16 กันยายน 2559

บอร์ดกองทุนแบงก์รัฐไฟเขียว หอบเงินหมื่นล้านเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ รอคลังไฟเขียวก่อนได้เงิน

บอร์ดกองทุนแบงก์รัฐไฟเขียว หอบเงินหมื่นล้านเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ รอคลังไฟเขียวก่อนได้เงิน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ สศค. ได้ให้ความเห็นชอบในการนำเงินจากกองทุนแบงก์รัฐเข้าไปเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และไอแบงก์ มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด คือ 0.18% ต่อปีของยอดเงินฝากที่ได้รับจากประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์รัฐ 3 แห่งยกเว้นไอแบงก์ ได้ดำเนินการส่งมาแล้ว 2 งวด เป็นเงินรวมกว่า 7,000 ล้านบาท และวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในกองทุนดังกล่าวเพื่อนำมาเพิ่มทุนแบงก์รัฐอยู่แล้ว

สำหรับกรณีของไอแบงก์ มีการคาดการณ์ว่า ต้องการเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในการเข้าไปเพิ่มทุนเพื่อไม่ให้ไอแบงก์มีฐานะเงินกองทุนที่ติดลบ ซึ่งหากกระทรวงการคลังเห็นชอบเรื่องการใส่เงินเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ในเร็วๆ นี้ ก็จะสามารถดำเนินการ โดยจะใช้วิธีการทยอยนำส่งเงินจากกองทุนแบงก์รัฐเข้าไปเพิ่มทุนให้ คาดว่าเมื่อมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนแบงก์รัฐเป็นรอบที่ 3 ก็จะทำให้มีเงินเข้ากองทุนจำนวนรวมกันเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว เพียงพอที่จะเพิ่มทุนให้ไอแบงก์

ก่อนหน้านี้ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการไอแบงก์ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีเอฟ ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ วงเงินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่าไอแบงก์จะยังคงดำเนินการหาพันธมิตรร่วมทุนต่อไป โดยขณะนี้มีนักลงทุนจากต่างประเทศยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับไอแบงก์อยู่ประมาณ 2-3 ราย

อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การหาพันธมิตรร่วมทุนดังกล่าว นักลงทุนยังรอดูความชัดเจนการแก้ไขปัญหาของกระทรวงการคลังในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี ขึ้น เพื่อรับโอนหนี้ที่มีปัญหาของธนาคารในส่วนที่ไม่ใช่หนี้ของกลุ่มชาวมุสลิม ซึ่งจะเป็นการแยกหนี้ดี และหนี้เสียออกจากกันอย่างชัดเจน นักลงทุนจะได้ไม่เกิดความกังวลในการใส่เงินเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนไอแบงก์