posttoday

สูงวัย...อย่าได้แคร์ คนแก่ (ยุคนี้) มีทางเลือก

26 กันยายน 2552

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

สัปดาห์นี้อาจจะเป็นสัปดาห์สุดท้าย ในการทำงานของใครหลายคนเพราะต้องเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 1 ต.ค.นี้แล้ว

แม้ว่าจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด (เมื่อปี 2550) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีเงินออมต่ำกว่า 7 แสนบาท เพราะฉะนั้นถ้าคิดง่ายๆ ว่าใช้เงินปีละ 1 แสนบาท ใช้เวลาแค่ 7 ปี ก็หมด

แม้ว่าสำนักงานสถิติจะสำรวจพบว่า คนสูงอายุเกือบ 50% จะยอมรับว่ามีเงินไม่พอใช้ (ถึงบางคนจะอ้อมๆ แอ้มๆ ตอบมาว่า "เพียงพอเป็นบางครั้ง" ก็ตาม)

แต่อย่าได้แคร์ เพราะคนสูงอายุในยุคนี้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะให้เลือกเยอะ

ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำที่ออกแบบมาให้เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุที่เอาใจผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ ประกันบำนาญที่กำลังจะออกมาขายในไม่กี่วันนี้ รวมไปถึงกองทุนรวมบางประเภทที่ผู้สูงอายุสามารถกำหนดระยะเวลาที่จะไถ่ถอนหน่วยลงทุนให้ตรงกับความต้องการใช้เงินได้แบบอัตโนมัติ

แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับทางเลือกที่แสนจะหลากหลายพวกนี้ ลองไปดูกันก่อนว่า สำหรับคนที่เพิ่งจะเกษียณอายุมาหมาดๆ หรือกำลังจะเกษียณอายุใน ไม่ช้า ควรจะจัดการกับชีวิตทางการเงินของตัวเองอย่างไร

อุมาพันธ์ เจริญยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย แนะนำสิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากการเกษียณอายุ คือ "ล้างหนี้" ที่มีอยู่ให้หมดโดยเร็วที่สุด

"ทำไมถึงบอกว่าภาระหนี้สินของคนที่อยู่ในวัยเกษียณถึงได้น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะคนในวัยนี้ไม่มีรายได้ประจำอีกแล้ว จึงจำเป็นต้องจัดการกับภาระหนี้สินให้หมดให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งค้างเอาไว้นานกำลังในการหารายได้ยิ่งน้อยลง" อุมาพันธ์ กล่าว

ถ้าตลอดทั้งชีวิตไม่เคยสักครั้งที่จะคิดทำบัญชีสินทรัพย์ ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องทำอย่างจริงจังแล้ว ซึ่งอุมาพันธ์บอกว่า แหล่งที่มาของเงินออมสำหรับคนเกษียณอาจจะมาได้จาก

- ประกันสังคม

- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

- เงินชดเชยเมื่อออกจากงาน

- กรมธรรม์สะสมทรัพย์

- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

- อื่นๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 500 บาท

สำหรับคนที่วางแผนเพื่อการเกษียณมาตลอดชีวิตอาจจะเบาใจเมื่อถึงเวลาที่ต้องเกษียณ เพราะอย่างน้อยก็น่าจะพอมีเงินออมมากพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณได้สบายๆ รวมทั้งข้าราชการเกษียณที่ไม่ว่าจะเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญก็น่าจะสบายใจได้เช่นกัน

หลังจากลองเข้าไปคำนวณบำเหน็จบำนาญล่วงหน้า ในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง (www.cgd.go.th) สำหรับคนที่เป็นสมาชิกกบข. พบว่า ถ้าอายุราชการเท่ากับ 34.89 ปี และเงินเดือนเดือนสุดท้ายเท่ากับ 3 หมื่นบาท (หรือเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 2.9 หมื่นบาท) จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 20,236 บาท แต่ถ้ารับเป็นเงินบำเหน็จจะได้ 1,046,700 บาท

แต่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุมากกว่า 50% มีแหล่งรายได้หลักจากลูก รองลงมาเป็นรายได้จากการทำงาน ขณะที่มีเพียง 4.4% ที่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ และอีก 2.9% เป็นเงินที่มาจากดอกเบี้ยเงินออม เงินออม และทรัพย์สิน

"ต้องเริ่มทำบัญชีว่า มีทรัพย์สินอยู่มากน้อยแค่ไหน และเพียงพอกับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนหรือไม่" อุมาพันธ์ กล่าว

และอย่าลืมคิดถึงการจัดการมรดก การทำพินัยกรรมเอาไว้ด้วย

"ต้องวางแผนรายจ่ายในแต่ละเดือนว่าจะใช้จ่ายเท่าไร ซึ่งโดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากเกษียณจะอยู่ประมาณ 70% ของเงินเดือนเดือน สุดท้ายก่อนออกจากงาน" อุมาพันธ์ กล่าว

การคำนวณเงินบำนาญข้าราชการก็ใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน เพราะมีข้อกำหนดว่า "บำนาญปกติที่คำนวณได้ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย"

นอกจากนี้ บาง รายการที่เคยเป็นรายจ่าย เช่น ภาษี และรายจ่ายที่ใช้ในการทำงานจะหายไป ขณะที่ค่าใช้จ่ายบางรายการอาจจะเพิ่มขึ้น เช่น ในวันที่อยู่ในตำแหน่งอาจจะมี "รถประจำตำแหน่ง" แต่พอพ้นจากตำแหน่งรถที่เคยใช้ฟรีก็ไม่มีอีกแล้ว หรืออาจจะมีรายจ่ายบางอย่างที่จำเป็น เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัย

"หลังจากนั้นต้องมาดูว่า เงินที่สะสมไว้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าไม่พออาจจะต้องมองหาอาชีพเสริม หรือประหยัดมากขึ้น"

อุมาพันธ์แนะนำว่า เพื่อให้การใช้จ่ายอยู่ในงบประมาณรายรับ-รายจ่ายที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องมี "ตัวช่วย" อาทิ

- ฝากเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือฝากประจำ แล้วถอนออกมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน

- ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ที่ให้บริการขายคืนอัตโนมัติเป็นรายเดือนตามจำนวนที่เราระบุไว้ และเงินที่ได้จากการขายก็จะถูกโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ ไม่ต้องไปทำธุรกรรมกันบ่อยๆ

- ประกันแบบบำนาญ ที่บริษัทประกันชีวิตจะระบุจำนวนเงินที่จะจ่ายให้ขั้นต่ำให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ในแต่ละปี

วัยนี้นับเป็นวัยแห่งความร่วงโรย เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะโรคภัย และอุบัติเหตุ ซึ่งข้าราชการเกษียณน่าจะได้เปรียบที่สุด เพราะเจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นเดียวกับคนที่วางแผนประกันชีวิตมาตั้งแต่เนิ่นๆ

เพราะผู้สูงอายุหลายคนที่อยากจะทำประกัน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะสุขภาพไม่เอื้ออำนวย หรืออายุเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น อายุมากกว่า 70-75 ปี ทำให้บริษัทประกันต้องปฏิเสธการทำประกัน

และแม้ผู้สูงอายุบางคนจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุได้ แต่ต้องยอมรับว่า อัตราเบี้ยประกันสำหรับผู้สูงอายุค่อนข้างสูง และยิ่งอายุมากขึ้น เบี้ยประกันก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ตัวอย่าง กรมธรรม์ประกันชีวิต ด้วยทุนประกัน 2 แสนบาท สำหรับคน อายุ 1 เดือน 60 ปี เสียเบี้ยประกันเท่ากันที่ 1,600 บาทต่อปี ขณะที่อายุ 61-65 ปี เบี้ยจะเพิ่มเป็น 1,900 บาท และเพิ่ม เป็น 2,200 บาท ในช่วงอายุ 66-70 ปี ขณะที่อายุ 71-75 ปี จะเสียเบี้ย 2,800 บาท

แต่เป็นโชคดีของผู้สูงอายุในยุคนี้ เพราะมีประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุที่ออกแบบมาเพื่อคนสูงอายุโดยเฉพาะ

"ต้องมีประกันเอาไว้ อย่างน้อยก็เป็นประกันอุบัติเหตุ เพราะคนสูงอายุล้มนิดเดียว แต่เจ็บเยอะ ใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ" อุมาพันธ์ กล่าว

นอกจากจะแบ่งเงินออกไปสำหรับการใช้จ่ายระยะสั้น 1-2 ปีแล้ว อุมาพันธ์ แนะนำว่า เงินอีกส่วนหนึ่งควรจะนำไปลงทุนระยะยาว แต่ต้องเป็นการลงทุนที่มี ความเสี่ยงต่ำ

"อาจจะลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือแบ่งเงินไปลงทุนในพันธบัตร ออมทรัพย์ หรือจะเป็นหุ้นกู้ก็ได้ แต่ ต้องดูเครดิตเรตติ้ง และดูด้วยว่าเป็นหุ้นกู้มีหลักประกันหรือไม่" อุมาพันธ์ กล่าว

และสำหรับคนที่อยากบริหารหัวใจให้เต้นแรงๆ ให้เลือดได้สูบฉีด จะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่ต้องพิจารณา "ความมั่งคั่ง" ของตัวเองก่อนว่า หลังจากทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแล้วมีเงินเหลือมากพอ แล้วจึงแบ่งออกไปลงทุนในหุ้นสัก 10-15%

"การลงทุนหุ้นเป็นเรื่องของใครของมัน เพราะหลายคนเก็บเงินมาได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอย่าไปลงทุนตามเพื่อน" อุมาพันธ์ แนะนำ

และอีกข้อหนึ่งที่ต้องจำให้แม่น คือ อย่าให้ใครยืมเงิน เพราะอาจจะกลายเป็นหนี้สูญ หรือใครมาชวนลงทุน ก็ต้องคิดให้หนัก เพราะอาจจะถูกหลอกให้สูญเงินก้อนสุดท้ายไปเลยก็ได้

ยังไม่ทันจะลงรายละเอียด "ทางเลือก" ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุก็หมดพื้นที่ เสียแล้ว เพราะฉะนั้นสัปดาห์หน้าจะ มาดูกันว่า มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด บ้างที่ทำให้ "คนแก่ไม่ต้องแคร์ (ว่าจะ อดตาย)"