posttoday

เศรษฐศาสตร์ วิชา = ชีวิต

10 ตุลาคม 2552

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

จำได้ว่าตอนขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในชั่วโมงแนะแนว คุณครูให้คิดว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร อยากเรียนคณะอะไร ตอนนั้นไม่รู้คิดอะไรบอกกับตัวเองว่า อยากเป็น "นักเศรษฐศาสตร์" ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่านักเศรษฐศาสตร์เขาทำหน้าที่อะไรกัน รู้แค่ว่าเท่ดี

แต่พอเวลาผ่านไปอีกแค่ 1-2 ปี ในฐานะที่เป็น "เด็กศิลป์คำนวณ" ที่ "ต่อมคณิตศาสตร์พิการ" เลยต้องยอมถอย แต่ก็ยังหนีไม่พ้นวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะพอเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องถูกบังคับให้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ยิ่งตอกย้ำว่า ดีแล้วเลิกคิดที่จะเป็น "นักเศรษฐศาสตร์"

เพราะจนกระทั่งเรียนจบ สิ่งที่ได้จากวิชาเศรษฐศาสตร์ในตอนนั้นมีอยู่ 2 คำ คือ ดีมานด์ (Demand) กับ ซัพพลาย (Supply) นอกจากนั้นก็คืนอาจารย์ไปหมด โดยที่ไม่รู้เลยว่า "วิชาเศรษฐศาสตร์" จำเป็นกับชีวิตประจำวันแค่ไหน

แต่น่าจะเป็นโชคดีของเด็กๆ ในยุคนี้ ที่ได้เริ่มเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่เล็กๆ ทั้งการเรียนเศรษฐศาสตร์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเรียน "เงินทอง ของมีค่า" คู่มือการเรียนการสอนสาระเศรษฐศาสตร์ (การจัดการการเงินส่วนบุคคล)

นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว ยังมีความรู้เศรษฐศาสตร์ข้างห้องเรียนให้เด็กๆ ที่สนใจด้านเศรษฐศาสตร์เข้ามาหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสานฝัน นักเศรษฐศาสตร์น้อยสู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการนักคิดเศรษฐศาสตร์รุ่นเยาว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และค่ายก้าวแรกสู่ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งค่าย นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเยาว์ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แต่อีกหนึ่งโครงการที่น่าจะทำให้ "วิชาเศรษฐศาสตร์" ได้รับความสนใจจากเด็กๆ ได้มากขึ้น คือ การแข่งขัน "เศรษฐศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ : เงินทอง ของมีค่า และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลนิธิร่มฉัตร และสมาคมประกันชีวิตไทย

การแข่งขันครั้งแรกผ่านไปพร้อมๆ กับความสำเร็จ ซึ่งอาจจะวัดได้จากจำนวน นักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน 1,743 คน จาก 619 โรงเรียนทั่วประเทศ

และที่น่าดีใจยิ่งกว่าคือ เด็กๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันต่างบอกว่า สิ่งที่สำคัญกว่ารางวัล คือ ความรู้ที่ได้รับ เพราะได้เรียนรู้ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

เหมือนกับที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขียนไว้ในคำนิยมในหนังสือการแข่งขันเศรษฐศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ : เงินทอง ของมีค่า และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 1 ว่า

"เศรษฐศาสตร์" เป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่ประกอบด้วยทฤษฎีและระเบียบวิธีการวิเคราะห์ โดยมีพื้นฐานมาจากหลักความจริงที่ว่า ทรัพยากรทุกอย่างล้วนมีอยู่อย่างจำกัด การเรียนรู้วิชาเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เรามีหลักคิดในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีความสมดุล และใช้อย่างเหมาะสม

ทรัพยากรดังกล่าวมิใช่ทรัพยากรที่ประเมินค่าเป็นเงินเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอากาศ น้ำ ธรรมชาติ หรือแม้แต่เวลา ที่สำคัญการเรียน "เศรษฐศาสตร์" ทำให้เรารู้ เข้าใจ และเข้าถึงเรื่องราวทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับวิถีการดำเนินชีวิตของเรา

เศรษฐศาสตร์ : วาระแห่งชีวิต

พระเทพภาวนาวิกรม (ท่านเจ้าคุณ ธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร หนึ่งใน ผู้อุปถัมภ์โครงการเศรษฐศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ของเด็กๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

"เศรษฐศาสตร์เป็นวิชา เป็นความรู้ที่ควรพูดกับเด็กๆ ทุกคน เพราะเป็นวิชาที่สามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นการสอนให้รู้ว่าเงินทองเป็นของมีค่า สอนให้รู้จักน้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในชีวิตประจำวัน

ควรจะสร้างความตระหนัก และการปลุกเร้า ให้คนไทยทั้งประเทศให้ความสำคัญกับความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้เศรษฐศาสตร์เป็น "วาระแห่งชีวิต" เพราะความไม่รู้จะทำให้ประเทศชาติลำบาก

วิชาเศรษฐศาสตร์จะทำให้เด็กๆ รู้จักการใช้ชีวิต การใช้เงินทองที่ถูกต้องกับชีวิต และความจำเป็น รู้จักอดออม ประหยัด จะทำให้เด็กไม่ออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งในปัจจุบันเด็กๆ ใช้เงินผิดประเภท นอกลู่นอกทาง เกิดภาวะไม่ถูกต้อง พ่อแม่ต้องลำบากหาเงินมาปรนเปรอลูกๆ โดยไม่ถูกลักษณะ จึงเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นหนี้เป็นสิน เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต เกิดการทุจริตในสังคม เพราะ ไม่รู้จักคำว่าอดออม ไม่รู้จักพอเพียง ไม่รู้จักประมาณตนเอง

พ่อแม่ก็ไม่รู้จักประมาณตนเอง เพราะฉะนั้นต้องย้อนไปที่เยาวชน ย้อนไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียน จึงจำเป็นต้องจัดการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ขึ้นมา

ปัจจุบันทั้งประเทศมันเสียไปแล้ว ต้องกลับมารื้อฟื้นวิชาเศรษฐศาสตร์จึงจะนำพาให้ประเทศชาติพ้นภัย"

ท่านเจ้าคุณธงชัยยังกล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในโรงเรียนว่า แม้จะมีการเริ่มต้นขึ้นแล้วในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงเด็กๆ ได้อย่างทั่วถึง เพราะเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกันมาก แม้จะอยู่ในจังหวัดเดียวกันก็ตาม

พร้อมกันนี้ ท่านเจ้าคุณธงชัยยังเชื่อมั่นว่า การนำวิชาเศรษฐศาสตร์มาเป็นหนึ่งใน "เพชรยอดมงกุฎ" จะทำให้การเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ได้รับความสนใจจากทั้งเด็กและครู ภายในเวลา 3-5 ปี เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในเพชรยอดมงกุฎสาขาวิชาอื่นๆ มาแล้ว

ช่วยแก้ปัญหาคนเห็นแก่ได้

หลายคนอาจจะมองว่าเศรษฐศาสตร์ทำให้คิดถึงแต่เรื่องเงิน แต่ในมุมมอง ของ วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน มองว่า เศรษฐศาสตร์ช่วยพัฒนาจิตใจของเยาวชนได้

"คนมักมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเงิน เพราะติดอยู่กับเศรษฐศาสตร์มหภาค แต่ความจริงแล้วเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร ที่มีกรอบในการตัดสินใจให้เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพยากรทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น

สำหรับเด็กๆ อาจจะเป็นเรื่องของการจัดสรรเวลา สอนให้เขามีกระบวนการในการตัดสินใจเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการ

นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์ยังมีแนวคิดที่สำคัญ คือ การสร้างจุดสมดุลในชีวิต การยอมเสียสละบางส่วน เพื่อให้ได้บางส่วน เพราะทรัพยากรมีจำกัด ซึ่งคำคำหนึ่งในเศรษฐศาสตร์ คือ Trade Off หรือได้อย่างเสียอย่าง เพราะบางเรื่องต้องตัดสินใจ มองให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย ผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับการตัดสินใจภายใต้ข้อจำกัด

เพราะฉะนั้น เด็กๆ ควรเริ่มเรียนเรื่องกรอบการตัดสินใจ เรื่องกระบวนการตัดสินใจ

เศรษฐศาสตร์เป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเงินก็เป็นตัวอย่างได้ แต่เวลาก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรเวลาในการออกกำลังกาย การเรียน การสังสรรค์

การไม่เริ่มสอนความรู้เหล่านี้ตั้งแต่เด็กๆ อาจจะเห็นได้จากปัญหาในปัจจุบัน ที่ทุกคนพยายามจะเอาแต่ได้ เพราะไม่เข้าใจเรื่องหลักการเบื้องต้นของเศรษฐศาสตร์ คำนึงถึงแต่ตัวเอง ไม่คำนึงถึงส่วนรวม เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองอย่างสุดโต่ง ซึ่งหากมองในภาพใหญ่ขึ้นไป เราจะรู้ว่าไม่มีทางที่ทุกคนจะได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ต้องมีคนเสียประโยชน์

คนมักมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ ซึ่งหากสอนเด็กๆ แล้ว จะทำให้เด็กเกิดความโลภ แต่จริงๆ แล้วมันคือกรอบในการตัดสินใจ ที่สอนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรี เพราะฉะนั้นเด็กๆ ยิ่งเริ่มเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เร็วเท่าไรยิ่งดี

ตอนนี้ในระดับมัธยมก็มีการเรียน การสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่จะสอนเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่าจะสอนเรื่องการตัดสินใจในชีวิต ทั้งๆ ที่ควรสอนเรื่องกรอบความคิดเรื่องการตัดสินใจในชีวิตมากกว่าที่จะสอนเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ"

วินัย การออม สำคัญกว่าเกรด 4

แม้จะบอกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมี "นักเศรษฐศาสตร์" เต็มบ้านเต็มเมือง เพราะประเทศที่มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่สุดอาจจะไม่ใช่ประเทศที่เศรษฐกิจดีที่สุดก็ได้ แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ความเข้าใจเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับวัยเป็นเรื่องสำคัญ

"เด็กๆ ควรจะเรียนรู้เรื่องการออม สร้างวินัยในการออม การรู้ค่าของเงิน และการบริโภคที่จะทำให้ไม่มีเงินเหลือสำหรับการออม ต้องสอนให้เขาคิดว่า เขาจะสามารถใช้จ่ายได้เท่าไร ถ้าเอาเงินไปซื้อของเล่น ก็จะซื้อการ์ตูนไม่ได้ พอโตขึ้นมาอีกหน่อยค่อยคิดถึงเรื่องช่องทางการออมว่า แต่ละช่องทางได้ผลตอบแทนอย่างไร

เรื่องพวกนี้มันยังไม่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องการเงินมากกว่า แต่มันสำคัญกว่าเศรษฐศาสตร์ เป็นทักษะอย่างหนึ่งในชีวิต เหมือนกับการดูแลสุขภาพตัวเอง

พอถึงชั้นมัธยมปลายไปจนถึงมหาวิทยาลัยจึงเริ่มสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ แต่เศรษฐศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับเด็ก ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์มหภาค เพราะมันไกลตัวเกินไป เศรษฐศาสตร์จุลภาคน่าจะเหมาะกว่า

ต้นตอของเศรษฐศาสตร์เกิดมาจากการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เพราะทรัพยากรมีจำกัด เพราะฉะนั้นต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งหากจะอธิบายให้เด็กๆ ฟังคงไม่เข้าใจ แต่เราสอนให้เด็กรู้จักค่าของเงินและต้องคิดว่าจะใช้อย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์จากมันได้มาก ที่สุด

แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องสร้างวินัย เพราะเงินมีจำกัด ไม่ใช่ใช้เงินหมดแล้วไปขอ พ่อแม่ได้อีก ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่ทำ Trade Off

การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเกินตัว ใช้บัตรเครดิตเกินตัว มันมาจากการไม่มีวินัยการออมตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นมีเงินเดือนก็ ไม่สามารถจัดการได้ ใช้จ่ายมากกว่าที่มี อยู่ โดยการใช้เงินกู้ที่ไม่รู้ว่าจะชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะวินัยการเงินหายไป

การสอนเศรษฐศาสตร์ในบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นการสอนตามตำรา มากกว่าที่จะสอนว่าเศรษฐศาสตร์ช่วยให้เข้าใจสิ่งรอบๆ ตัว ให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์

ขณะที่การเรียนก็เป็นการเรียนเพื่อเอาเกรด แม้จะเรียนจบปริญญาตรีได้คะแนนดีๆ แต่เมื่อถามอะไรที่หลุดไปจากกรอบก็ตอบไม่ได้ เพราะเรียนมาแบบท่องจำไปสอบ"

เข้าใจ เศรษฐศาสตร์ เข้าใจชีวิต

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

"เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับวิชาอื่นๆ เพราะในที่สุดเราก็ทำงานอยู่ ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะทำอาชีพไหน การเข้าใจเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน ที่เข้าใจเศรษฐศาสตร์จะทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น

ตอนต้นของชีวิตต้องสอนความรู้ด้านการเงินเยอะๆ เน้นความเข้าใจ เพราะความรู้ทางการเงินต้องสอนตั้งแต่เด็กๆ

ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ บังคับให้เด็กเรียนรู้ด้านการเงิน หลังจากนั้น 40 ปี สำรวจพบว่า คนที่ผ่านหลักสูตรนี้มีเงินเก็บมากกว่าคนที่ไม่เรียนถึง 3 ล้านบาท เพราะความรู้ด้านการเงินช่วยให้สามารถตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้น

ปัญหาสำคัญของคนไทยในอนาคต คือ จะเป็นสังคมชราภาพ แต่คนจะเก็บออมไม่พอใช้ เพราะฉะนั้นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จะมารอให้รัฐเลี้ยงไม่ได้ อย่าหวังพึ่งรัฐ ให้พึ่งพาตัวเอง ซึ่งการให้ความรู้ด้านการเงินเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

พอหลังจากเข้าใจด้านการเงินแล้ว ถึงจะเริ่มสอนอะไรที่ยากขึ้น ในระดับชั้นที่สูงขึ้น เช่น สอนเรื่องกลไกตลาดในระดับมัธยมปลาย แต่ต้องเน้นไปที่ความเข้าใจ แต่ถ้าจะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งต้องเป็นระดับปริญญาตรีขึ้นไป เพราะเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่ง่ายนัก แต่พอเข้าใจแล้วจะรู้ว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร

การเรียนเศรษฐศาสตร์ทำให้ได้มุมมองต่อโลกในอีกมิติหนึ่ง เข้าใจต้นทุนในชีวิตว่า มีอะไรบ้าง เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ต้นทุนมี 2 อย่าง คือ ต้นทุนที่แท้จริง และต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะคิดถึงแต่ต้นทุนด้านวัตถุอย่างเดียวไม่ได้ การเอาเวลามาใช้ เอาที่ดินมาใช้ ต้องบวกเข้าไปให้หมด

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ มีคำว่า Sunk Cost (ต้นทุนจม) ซึ่งสอนว่า อะไรที่มันผ่านไปแล้ว จ่ายไปแล้ว อย่าไปคิดอะไรมาก เศรษฐศาสตร์สอนว่า ไม่มีของฟรี เพราะทุกอย่างมีต้นทุน และไม่มีอะไรที่ดีที่สุด เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นเสมอ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่อง Trade Off คือ การเลือกระหว่าง 2 อย่าง ที่ต้องเลือกอย่างเหมาะสม

เหล่านี้เป็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ต้องค่อยๆ สอนให้เหมาะสมกับอายุ"