posttoday

ฟินเทคฮิตให้กู้รายย่อย

01 มีนาคม 2559

ธปท. เผย มีฟินเทค 6-7 ราย หารือปล่อยกู้พีทูพีแล้ว เล็งหาช่องคุม แต่ไม่ปิดกั้นการพัฒนา

ธปท. เผย มีฟินเทค 6-7 ราย หารือปล่อยกู้พีทูพีแล้ว เล็งหาช่องคุม แต่ไม่ปิดกั้นการพัฒนา

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.กำลังหาแนวทางการกำกับดูแลการทำธุรกรรมจากผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ (ฟินเทค) โดยเฉพาะการปล่อยกู้ระหว่างบุคคลที่ไม่ผ่านธนาคาร (พีทูพี เลนดิ้ง) เพราะมีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อบุคคล หรือนาโนไฟแนนซ์ ที่ต้องขอใบอนุญาตจาก ธปท.

ทั้งนี้ ขณะนี้มีผู้ประกอบการฟินเทค 6-7 รายได้มาหารือการปล่อยกู้แบบพีทูพีกับ ธปท. ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์เดิม และผู้ประกอบการรายใหม่แต่มีชื่อเสียง เพื่อสอบถามมุมมองและแนวทางจาก ธปท. แสดงให้เห็นว่า มีผู้เห็นโอกาสการให้บริการมากพอสมควร

“ฟินเทคในกรณีการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้งรูปแบบหุ้นนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแลอยู่ ส่วน ธปท.คงหนีไม่พ้นที่ต้องดูเรื่องพีทูพี เลนดิ้ง ซึ่งยอมรับว่า ธปท.กล้าๆ กลัวๆ ในการกำกับฟินเทค เพราะ ธปท.มี 2 บทบาท คือ ต้องสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีการเงินใหม่ พร้อมกับต้องให้มั่นใจว่าปลอดภัยแก่ผู้บริโภค” นางทองอุไร กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการเดินสายพบปะธนาคารพาณิชย์ พบว่า ต่างมองฟินเทคเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า และหลายแห่งได้ปรับตัวรองรับด้วยการตั้งหน่วยธุรกิจฟินเทคขึ้นมาแล้ว ส่วน ธปท. เชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์ยังเป็นภาคส่วนสำคัญของระบบการชำระเงิน ในฐานะผู้ให้บริการบริหารเงินสด เจ้าของระบบการชำระเงินภายในประเทศ และผู้บริหารความเสี่ยง รวมทั้งเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อปล่อยกู้ที่นันแบงก์ต้องใช้บริการ

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป ในเครือซีพี ผู้ให้บริการอี-มันนี่ และอี-คอมเมิร์ซ กล่าวว่า กำลังศึกษาโมเดลการทำธุรกิจปล่อยกู้แบบพีทูพี เลนดิ้ง ที่ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ขณะที่ยังมีช่องว่างการเข้าถึงสินเชื่อ จึงมีการรวมกลุ่มจับคู่ผู้ต้องการปล่อยกู้ กับผู้ต้องการกู้ โดยได้ผลตอบแทนที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งนี้ ธนาคารยังมีช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินในส่วนผู้มีรายได้น้อยหรือเอสเอ็มอีรายย่อย ขณะที่โทรศัพท์มือถือเข้าถึงประชากรได้มากกว่า จึงเป็นโอกาสที่จะให้บริการทางการเงิน โดยศึกษาไว้ 2 โมเดล คือ ทำระบบเอง หรือจะเป็นพันธมิตรกับธนาคารในการปล่อยกู้ต่อ ส่วนการดูแลความเสี่ยงยังเชื่อมั่นว่า ควรอยู่ในการกำกับดูแลของ ธปท. ดีที่สุด

“ยกตัวอย่างอาลีบาบา ที่มีพีทูพีเลนดิ้งด้วย และระบบเขาน่าสนใจ เพราะจะเปิดข้อมูลของผู้กู้และผู้ให้กู้ต่อสาธารณชน พร้อมจัดอันดับเครดิตด้วย ทำให้ผู้ปล่อยกู้มีความโปร่งใส และผู้กู้ระมัดระวังรักษาวินัยทางการเงินเพื่อไม่ให้เสียเครดิต” นายปุณณมาศ กล่าว