posttoday

เงินบาทสัปดาห์หน้ากรอบ32.15/40

24 กรกฎาคม 2553

ศูนย์กสิกรไทยคาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ32.15-32.40บาทต่อดอลล์ จับตาตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.-ธปท. เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงิน

ศูนย์กสิกรไทยคาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ32.15-32.40บาทต่อดอลล์ จับตาตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.-ธปท. เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงิน

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (19-23 ก.ค.) เงินบาทในประเทศ (Onshore) เคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัดและยังคงไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้นตลาด ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค หลังจากที่สัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและเทขายสกุลเงินเอเชีย (รวมถึงเงินบาท) ออกมา อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มทรงตัวหลังอ่อนค่ากว่าระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ เนื่องจากแรงซื้อ-ขายในตลาดค่อนข้างมีความสมดุล

เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยได้รับแรงหนุนจากสัญญาณเชิงบวกของข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป นอกจากนี้ ธปท.ยังระบุว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียมีความชัดเจนกว่าภูมิภาคอื่น และธปท.ยังได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ขึ้นเป็นร้อยละ 6.5-7.5 อีกด้วย ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาปิดตลาดปลายสัปดาห์ที่ระดับ 32.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ เท่ากับระดับในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 ก.ค.)

ในสัปดาห์หน้า (27-30 กรกฎาคม 2553) เงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 32.15-32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย. รวมถึงสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. ตลอดจนทิศทางของสกุลเงิน/ตลาดหุ้นในภูมิภาค ขณะที่ ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ อาจยังคงขึ้นอยู่กับประเด็นเกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางด้านการคลังของประเทศในแถบยุโรป การตอบรับของตลาดต่อผลการทดสอบภาวะวิกฤตของธนาคารในยุโรป รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ค.ของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่เดือนมิ.ย. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนก.ค. ตัวเลขจีดีพี (เบื้องต้น) ประจำไตรมาส 2/2553 จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดียอีกด้วย