posttoday

ธปท.เผยคิวอียุโรปทำเงินบาทแข็งค่าขึ้น

04 ธันวาคม 2558

ธปท.มาตรการคิวอีของยุโรปกระทบค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น และทำให้ตลาดในภูมิภาคผันผวนมากขึ้น แนะให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศซื้อป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

ธปท.มาตรการคิวอีของยุโรปกระทบค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น และทำให้ตลาดในภูมิภาคผันผวนมากขึ้น แนะให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศซื้อป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวถึงการประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหรือคิวอีของธนาคารกลายโรป( ECB)เมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า การประกาศนโยบายของ ECB ในครั้งนี้ เป็นทิศทางที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แม้ว่าจะต่างกันบ้างในเรื่องของขนาดของการทำคิวอี จึงเห็นเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้นทันทีจาก 1.0545 เหรียญสหรัฐ/ยูโร ไปแตะ 1.0687 เหรียญสหรัฐ/ยูโร และแข็งค่าต่อเนื่องไปแตะระดับสูงสุดที่ 1.0973 เหรียญสหรัฐ/ยูโร

“สำหรับผลกระทบต่อสกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาท พบว่า เช้านี้เงินภูมิภาคส่วนใหญ่เปิดตลาดแข็งค่าตามเงินยูโร  นำโดยเงินวอนเกาหลีใต้ และเงินดอลลาร์ไต้หวัน  ซึ่งในส่วนของเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35.76 บาท /เหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.4% จากระดับที่ปิดตลาดเมื่อวานนนี้” นางจันทวรรณกล่าว

นางจันทวรรณ กล่าวว่า ส่วนนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายเพิ่มเติมของ ECB ในครั้งนี้ ทำให้ทิศทางนโยบายของยุโรปกับสหรัฐมีความแตกต่างกัน (policy divergence) ชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้เงินสกุลในภูมิภาคเอเชียมีโอกาสที่จะผันผวนมากขึ้นในปีหน้า และเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทิศทาง ดังนั้น นักลงทุนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศหรออัตราแลกปลี่ยนจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศในการวางแผนธุรกิจสำหรับปีหน้า

ทั้งนี้ เมื่อ 3 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา ECB ประกาศทำคิวอี ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ด้าน (1) ปรับลด อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก(Deposit Facility Rate) ลง 0.1% จากเดิม -0.20% มาอยู่ที่ -0.30% (มีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธ.ค.58)   (2) ขยายระยะเวลาการซื้อสินรพย์ หรือ Asset Purchase Program (APP) ต่อไปอีก 6 เดือน จากเดิมสินสุดในสิ้นเดือน ก.ย. 2559 ขยายออกไปสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2560 (3) ขยายประเภทของสินทรัพย์ใน Asset-purchase Program ให้ครอบคลุมตราสารหนี้สกุลยูโร( EUR) ที่ออกโดยภาครัฐท้องถิ่นของประเทศสมาชิก (Euro-denominated marketable debt instruments issued by regional and local governments)  โดย ECB ยังคงปริมาณการทำคิวอีไว้ที่  6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน