posttoday

สติ+สมาธิ=ประสิทธิภาพสมการ ธรรมธุรกิจยุคใหม่

18 กรกฎาคม 2553

นักธุรกิจจำนวนมากที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการฝึกสติ ทั้งๆ ที่การฝึกสติเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อมีสติ ก็เท่ากับมีความประมาทน้อย

นักธุรกิจจำนวนมากที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการฝึกสติ ทั้งๆ ที่การฝึกสติเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อมีสติ ก็เท่ากับมีความประมาทน้อย

โดย สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

รายได้ – รายจ่าย = กำไร

สมการง่ายๆ ที่แม้แต่ “นักธุรกิจตัวกะเปี๊ยก” ยังคิดได้ แต่ถ้าเป็นนักธุรกิจสมองใสก็ต้องบอกว่า แค่ “กำไร” อย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องเป็น “กำไรสูงสุด” เท่านั้นที่ต้องการ เพราะฉะนั้นจึงทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้ “กำไรสูงสุด” โดยไม่สนใจว่า คนอื่นจะต้องสูญเสียอะไรบ้าง

และเป้าหมายของนักธุรกิจที่พุ่งตรงไปที่ “กำไรสูงสุด” เพียงอย่างเดียวนี่เองที่กำลังถูกมองว่า เป็นหนึ่งในต้นตอของความล้มเหลวและความขัดแย้งของคนในชาติ รวมไปถึงสร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ

เหมือนกับที่ อนุรุธ ว่องวานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อังกฤษตรางู และในฐานะนายกยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า...

“คนเก่งที่ขาดคุณธรรม สร้างปัญหาให้กับองค์กรและประเทศชาติได้มหาศาล ปัญหาของประเทศชาติก็มาจากการขาดคุณธรรมและจริยธรรม ทำธุรกิจโดยไม่ได้เป็นห่วงผลกระทบส่วนรวม ในทุกๆ วงการมีมิติของปัญหานี้”

อนุรุธ จึงร่วมกับนักธุรกิจจากหลากหลายแขนงร่วมแรงร่วมใจกันระดมสมอง เพื่อพยายามมองหาทางออกให้ประเทศไทยจากมุมมองของนักธุรกิจ ซึ่งในไม่ช้านี้เราน่าจะได้เห็นหน้าตาที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ก่อนที่เขาจะมีข้อสรุปใดๆ เกิดขึ้นเราลองมาดูว่า “โมเดลของนักธุรกิจสมัยใหม่” ควรจะเป็นและควรจะทำอย่างไร

กำไรไม่สูงสุด

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกให้นักธุรกิจหรือแม้กระทั่งนักลงทุนว่า อย่าไปคิดถึงคำว่า “กำไรสูงสุด” เพราะตำราเรียนด้านบริหารธุรกิจเล่มไหนๆ ก็สอนกันมาแบบนี้ แต่วิธีคิดแบบนี้อาจะเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วสำหรับการเป็น “นักธุรกิจสมัยใหม่”

เรื่องนี้ อนุรุธ เข้าใจดี เพราะเขาเป็นนักธุรกิจที่สานต่อธุรกิจครอบครัวเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งเขาบอกว่า “ผมก็เป็นนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นผมจะเข้าใจดีว่านักธุรกิจต้องการอะไร และมีปัญหาตรงไหน”

“ธุรกิจก็ยังคงเป็นธุรกิจ ต้องทำกำไร ต้องเติบโต ไม่ได้บอกให้เลิกทำกำไร เลิกเติบโต แต่วันนี้เริ่มมีคำถามว่า เราพยายามทำกำไรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ หรือ การถูกสอนให้ทำกำไรสูงสุด มันมีผลพลอยได้อะไรเกิดขึ้น เพราะเมื่อมีคนหนึ่งได้ไปเยอะ ก็ต้องมีคนเสียเยอะเช่นกัน” อนุรุธ กล่าว

เพราะเขาเชื่อว่า ความพยายามที่จะทำกำไรสูงสุด จะต้องเกิดมากจากความพยายามที่จะลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และนั่นอาจจะนำไปสู่การลดคุณภาพสินค้า การลดค่าจ้างแรงงาน หรือแม้กระทั่งการสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม

“นักธุรกิจที่มองเห็นแต่กำไรสูงสุดจะปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ เพราะการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานก่อนปล่อยสู่ลำน้ำธรรมชาติมันเป็นต้นทุน จึงไม่อยากทำ หรือ บางคนอาจจะมองว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น แต่ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะปัญหาโลกร้อนก็มาจากภาคธุรกิจที่ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา” อนุรุธ กล่าว

เขายังแนะนำต่อไปด้วยว่า “การทำธุรกิจในยุคนี้ต้องใช้หลักการว่า ธุรกิจอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ ซึ่งกระแสการทำ CSR และบรรษัทภิบาล ของหน่วยงาน บริษัทต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีมาก และจะดีที่สุด ถ้ามันเกิดจากความรับผิดชอบจากข้างในไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบังคับให้ทำ”

เพราะฉะนั้นนักธุรกิจยุคใหม่ต้องมีจิตสำนึก เพราะการทำธุรกิจโดยมีจริยธรรม จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์

“แต่นักธุรกิจจำนวนมากที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการฝึกสติ ทั้งๆ ที่การฝึกสติเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อมีสติ ก็เท่ากับมีความประมาทน้อย ขณะที่สมาธิจะช่วยทำให้มองเห็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้น ตัดสินแม่นยำมากขึ้น เพราะฉะนั้นคนทำงานที่มี สติ + สมาธิ = ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสมการใหม่ที่นักธุรกิจควรจะมอง” อนุรุธ กล่าว

นอกจากสมการประสิทธิภาพตามแบบของ อนุรุธ แล้ว ยังมีสมการความสำเร็จ ตามแบบของ คาซูโอะ อินาโมริ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งบริษัท เคียวเซร่า โดยที่ ความสำเร็จ = ความสามารถ X ความพยายาม X ทัศนคติ

คาซูโอะ บอกว่า ทั้งความสามารถ และ ความพยายามที่เราใส่ลงไปในงาน มีค่าตั้งแต่ 1 ถึง 100 แต่ทัศนคติ มีค่าตั้งแต่ -100 ไปจนถึง 100 เพราะฉะนั้นไม่ว่า เราจะใส่ทุ่มเทความสามารถกับความพยายามลงไปมากเท่าไร ความสำเร็จที่ออกมาก็ติดลบอยู่ดี ถ้าเรามีทัศนคติเป็นลบ (เพราะคุณครูคณิตศาสตร์ชั้นประถมสอนไว้ว่า ลบคูณบวก ผลลัพท์ที่ได้จะเป็นลบ)

แต่นักธุรกิจที่ก้าวข้ามออกมาจากการเป็นนักธุรกิจธรรมดามาเป็นนักธุรกิจที่ดี ไม่ใช่แค่ลุกขึ้นมาประกาศว่า จะใช้สติและสมาธิ เพื่อสร้างประสิทธิภาพ จะมีคุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น นึกถึงสิ่งแวดล้อม จะมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อการทำงาน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนจนหยั่งรากลึกลงไปในหัวใจ

สั่งไม่ได้ ต้องสร้าง

ทั้งการมีสติ มีสมาธิ มีคุณธรรมในใจ และมีทัศนคติที่เป็นบวก ไม่สามารถเขียนเป็นกฎ ตั้งเป็นกติกาให้คนในองค์กรปฏิบัติร่วมกันได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ “สั่งไม่ได้ ต้องสร้างขึ้นมา” และวิธีการสร้างที่ง่ายที่สุด คือ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เหมือนที่ อนุรุธ บอกว่า การเปลี่ยนปลงของคนจะต้องเปลี่ยนจากภายในออกไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายนอก และถ้าไม่รู้ว่า จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในได้อย่างไร อนุรุธ บอกว่า ที่ยุวพุทธิกสมาคมฯ ช่วยได้

“ยุวพุทธฯ ในปัจจุบันส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ซึ่งในแต่ละปีมีคนเข้ามาปฏิบัติธรรมปีละ 2-3 หมื่นคน จากหลากหลายวัย หลากหลายอาชีพ แต่ที่สำคัญมากๆ คือ นักธุรกิจ เพราะภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ แต่ที่พบคือนักธุรกิจมีความเครียดมาก จึงมีการจัดหลักสูตรขึ้นมาเฉพาะสำหรับนักธุรกิจ เพื่อให้เรียนรู้หลักธรรมและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน”

ใน 3 ปีที่ผ่านมามีคนจากภาคธุรกิจเข้ามารับการอบรมจำนวนมาก จึงก่อตั้ง “ศูนย์พัฒนาจิตและปัญญา” (Mind and Wisdom Development Centre: MWDC) เพื่อรองรับความต้องการของภาคธุรกิจโดยตรง

และเป็นเพราะนักธุรกิจมักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก เพราะต้องให้เวลากับการดำเนินธุรกิจ การขยายตลาด การขายสินค้า จึงต้องจัดหลักสูตรที่มีระยะเวลาไม่นานนัก โดยปัจจุบันมีอยู่ 12 หลักสูตร

“หลักสูตรที่ใช้เวลาน้อยที่สุด คือ 1 วันเท่านั้น โดยหลักสูตรที่ทำขึ้นเป็นการสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริหาร โดยการแทรกลงไปในหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพราะการพัฒนาเป็นหัวใจของความก้าวหน้า เพื่อให้ผู้บริหารเป็นทั้งคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบ” อนุรุธ กล่าว

สำหรับหลักสูตรจะจัดแบ่งออก 4 ระดับ คือ

1 สร้างและปรับความเข้าใจในการพัฒนาจิตขั้นพื้นฐาน

2 เสริมพื้นฐานการพัฒนาตัวเอง

3 เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาตัวเองในระดับเข้มข้น

4 พัฒนาตัวเองสู่พุทธิปัญญา

แต่ชื่อหลักสูตรในทั้ง 4 ระดับ ถ้าไม่บอกก็ไม่มีทางรู้เลยว่า นี่เป็นหลักสูตรที่ใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น...

“Finding Nemo” หลักสูตร 1 วัน ที่บรรยายเรียกน้ำย่อยว่า “หนึ่งในคำสาปที่ทุกชีวิตต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อ คือ ความเครียด หากยังแบกไปด้วยบนหนทางแห่งการตามล่าความฝันจะไม่มีใครหนีคำสาปอาถรรพ์นี้ไปได้เลย” แต่ “ปลาน้อยตัวนี้มีคำตอบ”

“ดีท็อกซ์ใจ เพื่อภูมิให้ชีวิต” หลักสูตร 2 วัน ที่มีคำชวนที่น่าสนใจว่า “เราขอเชิญชวนให้ท่านเสียสละสุดสัปดาห์หนึ่งมาดีท็อกซ์มลพิษออกจากใจ สนุกกับกิจกรรมผ่อนคลายและเรียนรู้หลักการบริหารหัวใจให้แข็งแรงพอจะต่อสู้กับมลภาวะที่คุกคามจิตใจอยู่รอบๆ ด้าน แล้วเลือกมีความสุขกับชีวิตได้”

“สู่ความสำเร็จบนทางช้างเผือก” หลักสูตร 2 วัน ที่ออกแบมาเพื่อ “นักบริหารที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ ทำงานหนัก ผจญกับความเครียด ทำให้ความคิดด้านลบเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตและการทำงาน จึงมักใช้ชีวิตที่จึงจนสุดโต่ง ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้างให้วุ่นวายไปในความสับสน

“ติดแอร์ให้หัวใจ” หลักสูตร 3 วัน ที่จะ “ปลุกพลังด้านบวก โดยใช้การเจริญเมตตาภาวนาเป็นแกนหลัก เป็นวิธีฝึกที่ง่าย ใกล้ตัว ผสมผสานกับกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่อนคลาย ลดความเครียด เพิ่มพูนความสุขและกำลังใจ ปลูกต้นไมตรีจิตให้งอกงามในจิตใจจนกลับออกไปเป็นกำลังสำคัญในการเยียวยา”

อนุรุธ บอกว่า นั่นเป็นเพราะวิธีการตั้งชื่อหลักสูตรและกระบวนการอบรมจะระมัดระวัง เพราะไม่ต้องการให้คนที่มารับการฝึกอบรมรู้สึกว่า “ถูกจับเข้าวัด” หรือ รู้สึกว่าต้องนุ่งขาวห่มขาว ไปปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม

และคงด้วยเหตุนี้ทำให้มีบริษัท หน่วยงาน ห้างร้าน จำนวนมากส่งพนักงานเข้ามาอบรมในหลักสูตรของ MWDC ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารเกียรตินาคิน, กลุ่มธนชาต, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ทรู คอร์ปอเรชั่น, ซีพี ออลล์ และอีกมากมาย

นอกจากนี้ ทางศูนย์ MWDC ยังสามารถออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับแต่ละองค์กรอีกด้วย 

นักธุรกิจ ธรรมธุรกิจ

ไม่เฉพาะนักธุรกิจชื่อดัง ที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนที่ให้ความสำคัญการใช้ธรรมะในการดำเนินธุรกิจ แต่นักธุรกิจตัวเล็กๆ หรือ คนในแวดวงธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่หันมาใส่ใจกับการ “ธรรมธุรกิจ”

วงศ์อัจฉรา เกตุวรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีไทยโฮม ที่เริ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปี 2547 กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีช่องทางให้หาประโยชน์ได้มาก แต่เธอก็เลือกที่จะทำตามความถูกต้อง

“ทุกคนก็ต้องเอาประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก แต่ก็รู้ว่า ถ้าเอาแต่ประโยชน์ก็คงไม่จบ ถ้าอย่างนั้นเรายึดหลักความถูกต้องดีกว่า ไม่โกหก ตรงไหนไม่ตรงตามแบบเราก็บอกไปตรงๆ เพราะการใช้ธรรมะทำให้เรายอมรับกฎแห่งธรรมชาติได้มากขึ้น” วงศ์อัจฉรา กล่าว

แต่เธอก็ยอมรับว่า ความเข้าใจในกฎธรรมชาติไม่ได้สร้างได้เพียงแค่การปฏิบัติธรรมเพียงแค่ครั้งสองครั้ง “แต่สิ่งแรกๆ ที่เกิดขึ้นหลังการใช้ธรรมะในชีวิต คือ มีสมาธิมากขึ้น ใจนิ่งขึ้น จากเดิมที่เวลาอะไรไม่ได้ดั่งใจก็จะเป็นทุกข์ แต่ตอนนี้ก็ทุกข์น้อยลง”

“เมื่อก่อนก็ทำเป็นว่า เราไปปฏิบัติธรรม แต่พอถึงจุดหนึ่งไม่ได้นำหลักธรรมมาใช้เลย จนผ่านไป 7 ปี เพิ่งจะจับจุดได้ เปลี่ยนมุมมองในชีวิต โดยเฉพาะในการทำธุรกิจว่า ถ้าเราอยากให้คนอื่นได้ ก็เท่ากับว่า เราได้กำไรแล้วตั้งแต่เริ่มคิด” วงศ์อัจฉรา กล่าว

นอกจากนี้ เธอยังมีโครงการ “ตู้ปันธรรม” ที่จะมอบตู้หนังสือพร้อมหนังสือ เพื่อแบ่งปันสู่สังคมอีกทางหนึ่ง

กิติวรรณ จงนรังสิน ผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต กล่าวว่า “บริษัทต้องมีธรรมาภิบาล ต้องการให้พนักงานเกื้อกูลกัน ซึ่งมันบรรจุในหลักสูตรได้ แต่จะทำได้จริงหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึก ซึ่งมีวิธีเดียวที่จะทำให้คนมีจิตสำนึก คือ การปฏิบัติธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้เห็นมาด้วยตัวเองทั้งนั้น จากการปฏิบัติมาตลอด 18 ปี”

และถ้าเราอยากให้มีนักธุรกิจยุคใหม่อย่าไปรอให้ใครเริ่ม อย่ารอให้ใครทำ เพราะ อนุรุธ บอกว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงง่ายที่สุด (แม้ว่ามันจะไม่ง่ายนัก) คือ การเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเองก่อน ใครไม่ทำเราทำ โดยการนำธรรมะมาเยียวยาตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที ทั้งในชีวิตประจำวันและในธุรกิจ

ทีนี้ก็แค่ หลับตาลง แล้วทำจิตให้นิ่ง...