posttoday

4จี สุดยอดเทคโนโลยีมีค่าที่สุด

22 มีนาคม 2558

ดีลอยท์ บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการข้อมูลและจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ในสหรัฐ ประเมินชัดว่า

ดีลอยท์ บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการข้อมูลและจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ในสหรัฐ ประเมินชัดว่า การปรับปรุงพัฒนา 4จี จะส่งผลต่อการขยายตัวรายได้ของธุรกิจและการจ้างงานในสหรัฐ โดยรายงานฉบับล่าสุด ระบุว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ 4จี ราว 2.5-3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพีสหรัฐ จาก 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 1.51 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี 2012-2016 รวมทั้งจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นระหว่าง 3.71-7.71 แสนตำแหน่ง

ความเร็วของ 4จี ยังส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน เพราะการเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่า สามารถทำให้ประมวลผลทิศทางตลาดได้เร็วกว่า รวมถึงการยกระดับในกระบวนการผลิต เช่น แทนที่จะผลิตสินค้าขึ้นมาเก็บไว้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการเก็บรักษา 4จี จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าได้ทันทีที่ลูกค้าสั่ง และจัดส่งได้ทันเวลาที่ลูกค้าต้องการใช้ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี 4จี จะเป็นส่วนเสริมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบประมวลผลก้อนเมฆ (คลาวด์คอมพิวติ้ง) ที่เปิดทางให้นักพัฒนาและผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดและการตรวจสอบผลตอบรับของผู้บริโภคในตลาดหลังมีการออกแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ หรือการทดสอบการใช้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหา จะเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และถูกขึ้น

นอกจากนี้ ระบบ 4จี สามารถลดช่องว่าง และทำให้การเข้าถึงกลุ่มคนบางคนในตลาดมีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คนกลุ่มน้อยของสังคม คนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และผู้ด้อยศักยภาพในด้านต่างๆ โดย ระบบ 4จี จะเปิดโอกาสและพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้สามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงตลาดเพื่อเผยแพร่สินค้าและบริการของตนในระดับที่กว้างมากขึ้น

ฟิล อัสมุนด์สัน รองประธานและหัวหน้าฝ่ายโทรคมนาคมและสื่อแห่งสหรัฐ ของดีลอยท์ สรุปไว้ว่า เมื่อประมวลจากข้อดีที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ทำให้การพัฒนาสู่การเป็นระบบ 4จี แบบเต็มตัวของสหรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและต้องเร่งลงมือทำโดยเร็ว เนื่องจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาระบบ 4จี ของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือสวีเดน

ยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างท่วมท้น การมีเทคโนโลยีสื่อสารที่ทรงอำนาจและทรงประสิทธิภาพมีค่าเทียบเท่าหรือมากกว่าอิทธิพลทางการเมืองและการทหารรวมกัน

นักวิเคราะห์ของดีลอยท์ เน้นย้ำว่า ความสำเร็จของระบบ 4จี ไม่อาจเกิดขึ้นจากภาคเอกชนฝ่ายเดียว ความร่วมมือจากภาครัฐ ซึ่งหมายถึงการสร้างระบบที่โปร่งใส และทั่วถึงให้แก่เอกชนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากช่วยให้เอกชนมีกำลังใจและยินดีที่จะแข่งขันนวัตwกรรมใหม่ๆ ของ 4จี ให้เกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับระบบ 3จี ของสหรัฐนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจโดยโอเพ่น ซิกเนล องค์กรอิสระ สหรัฐ ซึ่งติดตามตรวจสอบเครือข่ายสัญญาณสื่อสารทั่วโลก เมื่อเดือน ก.พ. 2014 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบระดับความเร็วของสัญญาณ 4จี ในประเทศต่างๆ (วัดจากความเร็วโดยเฉลี่ยในการดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลครั้งหนึ่งๆ) สหรัฐรั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบท้ายสุดของตาราง เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำและประเทศกำลังพัฒนา

อาจเรียกได้ว่า ระบบ 4จี สหรัฐยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อไขว่คว้าโอกาสทางเศรษฐกิจในยุคที่ข้อมูลข่าวสารคืออาวุธทรงพลังที่เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

สหรัฐถือเป็นชาติแรกๆ ที่นำระบบ 4จี มาใช้ แต่หากวัดตามมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคม แผนกสื่อสารวิทยุ (ไอทียู-อาร์) ที่นิยามมาตรฐาน 4จี ไว้ เมื่อเดือน มี.ค. 2008 ว่า จะต้องมีความเร็วสูงสุดที่ 100 เมกะบิต/วินาที สำหรับการสื่อสารเคลื่อนที่อัตราสูง เช่น ในรถไฟหรือรถยนต์ และความเร็วที่ 1 กิกะบิต/วินาที สำหรับการเคลื่อนที่ในอัตราต่ำ เช่น การเดินเท้า ระดับ 4จี ของสหรัฐก็ยังไม่นับว่าเป็น 4จี เพราะความเร็วสัญญาณไร้สายของสหรัฐสำหรับการดาวน์โหลดข้อมูลหนึ่งๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 Mbps

กระนั้น ต่อให้ไม่ใช่ 4จี ตามมาตรฐานไอทียู-อาร์ แต่เครือข่ายไร้สายของสหรัฐก็นับว่าใกล้เคียงกับระบบ 4จี คือเป็นระบบก่อนก้าวเข้าสู่ 4จี แท้ๆ นั่นคือ ระบบเอลทีอี (Long Term Evolution) ซึ่งเป็นหนึ่งมาตรฐานจากกลุ่ม Third Generation Partner Ship Project (3จีพีพี)

ทั้งนี้ ด้วยจุดอ่อนที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก ทำให้ในสหรัฐมีองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นองค์กรกลางทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินของ 4จี อย่าง “4จี อเมริกา” เกิดขึ้น โดยมีหน้าที่หลักในการเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

กล่าวคือ ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณรับทราบข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของภาครัฐใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้ไขกฎระเบียบ 4จี การประมูลช่วงสัญญาณ การตรวจสอบความโปร่งใส ขณะเดียวกัน 4จี อเมริกา ก็จะรวบรวมข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น อุปสรรคและข้อติดขัดจากเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายไปให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการ

ขณะเดียวกัน องค์กรดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนและบุคลทั่วไปที่สนใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบ 4จี เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้ให้บริการเครือข่ายรรับทราบปัญหาผู้ใช้งานด้วย