posttoday

กสทช.อ่อนแอ กลุ่มทุนจะได้ประโยชน์

22 มีนาคม 2558

แม้จะมีเสียงตอบรับการประมูลคลื่น 4G จากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและประชาชน แต่ก็มีคำถามว่ามี 4G แล้ว

แม้จะมีเสียงตอบรับการประมูลคลื่น 4G จากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและประชาชน แต่ก็มีคำถามว่ามี 4G แล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์จริงหรือ?

อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ 4G ย่อมดีกว่า 3G แน่ เพราะในเชิงเทคโนโลยี มาตรฐานความเร็วขั้นต่ำในการสื่อสารข้อมูล  (DATA) ของ 4G อยู่ที่ 100 Mbps มากกว่า 3G ซึ่งมีมาตรฐานขึ้นต่ำที่ 2Mbps หรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 50 เท่า

แต่อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ผ่านมาพบว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ มีแต่นักลงทุนที่ได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ เช่น การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี EDGE (Enhanced Data rates for GSM Evolution) มาเป็น 3G ซึ่งให้ความเร็วในการสื่อสารข้อมูลมากขึ้น 6 เท่า หรือ 600%

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประกอบการใช้ Capacity ช่องสัญญาณในการให้บริการน้อยลง ทำให้เหลือช่องสัญญาณที่จะรองรับลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งต้นทุนที่ลดลงนี้ แม้ไม่สามารถเทียบแบบบัญญัติไตรยางค์ว่าลดลง 600% แต่ก็ถือว่าลดลงในเปอร์เซ็นที่มาก

หากดูในแง่ของอัตราค่าบริการกลับพบว่า ราคาไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ส่วนประชาชนก็คิดว่าราคาเท่าเดิมแต่ได้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น ไม่ได้เฉลียวใจว่าราคาค่าบริการควรจะถูกลงด้วย

อนุภาพ ยกตัวอย่าง บริการประเภท Voice ซึ่ง กสทช.ออกประกาศอัตราค่าบริการขั้นสูงจาก 0.99 บาท/นาที มาเป็น 0.84 บาท/นาที ซึ่งลดลงเพียง 15% เท่านั้น แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงมากกว่านั้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับบริการ Data มีต้นทุน MB ละ 3 สตางค์ แต่คิดค่าบริการในอัตรา MB ละ 1 บาท ซึ่งเป็นการคิดราคาที่มากกว่าต้นทุนกว่า 3,300%

“ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงมหาศาล แต่ประชาชนยังไม่เข้าใจ เลยไม่เรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้” อนุภาพ กล่าว

นอกจากเรื่องค่าบริการแล้ว เรื่องคุณภาพก็เป็นอีกประเด็นที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ยกตัวอย่างการใช้งานแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีฟีเจอร์ในการโทรด้วยเสียงฟรีผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมาตราฐานความเร็วขั้นต่ำของ 3G คือ 2Mbps สามารถโทรด้วยเสียงผ่านไลน์ได้อย่างสบายๆ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีผู้ประกอบการรายใดยอมให้บริการ 3G ที่ความเร็ว 2Mbps เห็นได้จากการใช้งานจริงที่โทรได้บ้างไม่ได้บ้าง

“เพราะหากเขาให้ความเร็ว 2Mbps จริง สิ่งที่จะเปลี่ยนคือคนจะหันไปโทรฟรีผ่านไลน์กันหมด ไม่มีใครใช้การโทรด้วยเสียงอีก ถ้าเป็นแบบนี้ผู้ประกอบการจะเสียรายได้จากบริการประเภท voice มหาศาล และเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้เทคโนโลยีจะมาแล้ว แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มาจากความอ่อนแอ และไม่เอาใจใส่ในการกำกับดูแลของ กสทช.ทำให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มทุน ยิ่งกิจการโทรคมนาคมมีลักษณะผูกขาดอยู่แล้ว ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลไม่แข็งแรง ประชาชนก็ยิ่งเสียประโยชน์

หน่วยงานกำกับดูแลบ้านเรายังไม่มีข้อมูลแม้แต่ต้นทุนการให้บริการที่แท้จริงของผู้ประกอบการเลย ตัวเลข 99 สตางค์ -84 สตางค์ ที่กำหนดมา ยกเมฆทั้งนั้น พอไม่มีข้อมูลต้นทุนที่แท้จริง แล้วจะเอาอะไรไปกำกับดูแลว่าบริการแต่ละประเภทควรมีราคาเท่านั้นเท่านี้” อนุภาพ กล่าว

ด้วยเหตุนี้ แม้จะเปิดการประมูล 4G และคาดหวังจะให้เป็นตัวสนับสนุนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี แต่ในทางปฏิบัติ หาก กสทช.ยังกำกับดูแลแบบเช่นในปัจจุบัน เกรงว่าภาพเดิมๆ จะเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร และยังคงต้องใช้ 4G ในราคา 3G เหมือนปัจจุบันที่ใช้ 3G ในราคาของ EDGE

“ถ้าอยากเห็นดิจิทัล อีโคโนมี ภาพเดิมๆ แบบนี้ก็ไม่ควรจะเกิดอีก ไม่อย่างนั้นเด็กนักเรียนทั้งหลายก็ไม่มีโอกาสได้ใช้อินเทอร์เน็ตในราคาถูก ที่สำคัญประชาชนควรจะได้ทั้งในแง่ค่าบริการที่ถูกลงและคุณภาพการบริการที่ดีขึ้น” อนุภาพ กล่าว

อนุภาพ เสนอว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง หน่วยงานกำกับดูแลควรปรับหลักเกณฑ์การจัดสรร ไม่ใช่ยึดแค่วิธีการประมูลอย่างเดียว แต่ควรนำเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของเทคโนโลยีมาเป็นตัวกำหนด ขณะเดียวกันต้องมีหลักเกณฑ์การ Roll out เน็ตเวิร์ก 4G ที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประกอบการขยายโครงข่ายตามปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องกำหนดว่าต้องติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในกี่ปี ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากเทคโนโลยี 4G

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จาก 3G ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่ประมูลได้ไปมีต้นทุนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ (ไลเซนส์) เพียงรายละ 150 ล้านบาท/ปี รวม 3 รายก็ 450 ล้านบาท/ปี ถือว่าต้นทุนลดลงจากเดิมมาก หากเทียบกับค่าส่วนแบ่งรายได้ที่โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ต้องจ่ายแก่ผู้ให้สัมปทานเดิมหลักแสนล้านบาท/ปี แต่ค่าบริการแทบไม่ได้ลดลง

ขณะเดียวกัน ยังมีการร้องเรียนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเรื่องอื่นๆ อีก แต่ กสทช.ก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นในการประมูล 4G ควรกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งเรื่องราคาและคุณภาพไว้ในไลเซนส์ให้ชัดเจน จะหวังให้ผู้ให้บริการลดราคาโดยสมัครใจย่อมไม่ได้

นอกจากนี้ ต้องกำหนดเงื่อนไขการ Roll out โครงข่าย 4G ลงในไลเซนส์ให้ชัดเจนด้วย ไม่ใช่มาเจรจากำหนดตกลงกันในภายหลัง โดยเสนอว่าต้องมีเงื่อนไขการ Roll out โครงข่ายให้ครอบคลุมในเชิงพื้นที่ ไม่ใช่ครอบคลุมตามความหนาแน่นของประชากร

“ถ้ากำหนดให้ติดตั้งโครงข่ายตามความหนาแน่นของประชากร คนที่ได้ใช้ 4G ก็มีแต่ในเมือง ส่วนในอำเภอรอบนอกที่มีประชากรน้อย หรือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะไม่มีโอกาสได้ใช้บริการเลย” สารี กล่าว

สารี กล่าวด้วยว่า หากการประมูล 4G รอบนี้ มีแค่ 3 รายเดิมก็จะมีการผูกขาดต่อไป และจะไม่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น