posttoday

หนี้สาธารณะเดือนม.ค.ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

13 มีนาคม 2558

รองโฆษกรัฐบาล ชี้หนี้สาธารณะเดือนมกราคม ปรับเพิ่มเล็กน้อย ยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง เหตุกู้เพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก

รองโฆษกรัฐบาล ชี้หนี้สาธารณะเดือนมกราคม ปรับเพิ่มเล็กน้อย  ยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง เหตุกู้เพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก
     
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง สิ้นเดือนมกราคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,658,059.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.46 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 34,085.53 ล้านบาท โดยสัดส่วนยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ของจีดีพี
 
“การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในช่วงเดือนมกราคมได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากรัฐบาลกู้เงินส่วนใหญ่มาเพื่อลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการหมุนเวียนเม็ดในระบบ เป็นการก่อหนี้ที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ  รวมทั้งหนี้สาธารณะปัจจุบันคิดเป็นเพียง 46.6% ของจีดีพี ยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนการคลัง ที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของGDP ในขณะที่เมื่อเทียบกับหลายมีประเทศที่มีหนี้สินสาธารณะค่อนข้างสูง อาทิ ญี่ปุ่นกว่า 200% , สหรัฐอเมริกากว่า 60%, เยอรมันกว่า 80% สิงคโปร์กว่า 100% เป็นต้น”
 
โดยหนี้สาธารณะ แบ่งเป็น 1.หนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 42,109.72 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้า ที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำนวน 23,976 ล้านบาท 2.การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 17,116.61 ล้านบาท
 
3.การกู้เงินเพื่อการลงทุน จำนวน 1,988.23 ล้านบาท ประกอบด้วย การเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 200 ล้านบาท การให้กู้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 618.23 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รถไฟสายสีแดง และโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,170 ล้านบาท และ4. การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,802 ล้านบาท
     
ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน มียอดหนี้คงค้างลดลง 5,058.56 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,919.63 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง 1,046 ล้านบาท