posttoday

ธปท.เผยสินเชื่ออสังหาฯ-สาธารณูปโภคยังเติบโตได้ดี

12 กุมภาพันธ์ 2558

ธปท.เผยสินเชื่อสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้ คาดสินเชื่อโดยรวมโตที่ 7%

ธปท.เผยสินเชื่อสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้ คาดสินเชื่อโดยรวมโตที่ 7%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อที่น่าจะเติบโตได้ดีในในปี 2558 คือ สินเชื่อสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมายังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเติบโตของสินชื่อรวมในไตรมาสที่1 ปีนี้ ยังมีสัญญาณเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมปีนี้สินเชื่อชะลอลงเห็นได้จากมีอัตราการขยายตัวที่ลดลง โดยคาดว่าจะโตที่ระดับ 7% จากปีก่อนโตที่ 5% แต่การปล่อยสินเชื่อก็ยังมีความระมัดระวังในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าธนาคารพาณิชย์จะเร่งสินเชื่อโดยไม่ดูคุณภาพ โดยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าสินเชื่อในภาคธุรกิจ เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กันไประดมทุนจากตลาดพันธบัตร ออกหุ้นกู้ และระดมทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ 

“สินเชื่อจะขยายตัวได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจปีนี้เป็นสำคัญ ถ้าเศรษฐกิจโตได้ตามคาด คือปีนี้โตที่ 4% สินเชื่อก็น่าจะโตได้ดีขึ้น ขณะที่แนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลถ้าดูแนวโน้มก็ไม่ได้เลวลง”นายจาตุรงค์กล่าว

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่า สินเชื่อขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มในอัตราที่ชะลอลง จากปี 2556 ที่ 2.04 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 2.14 แสนล้านบาทในปี 2557 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อโดยรวมหรือระดับเอ็นพีแอล ณ ไตรมาส 4  ปี2557 ยังทรงตัวที่ 2.15% เท่ากับระยะเดียวกันปีก่อน แต่คุณภาพด้อยลงบ้างในสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มจาก 2.20% ของสินเชื่อรวมเป็น 2.39% แต่ไม่น่าห่วงเนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองและมีเงินกองทุนในระดับสูงเฉลี่ยที่ 16.8% สามารถรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจได้

สำหรับสินเชื่อรวมปี 2557 โต 5% ลดลงจากปี 2556 ที่โต 11% แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โต 6.2% ลดลงจาก 6.6% สินเชื่อธุรกิจโต 4% ลดลงจาก 10.2% สินเชื่อเอสเอ็มอีโต 2.2% ลดลงจาก 14.7% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคโต 7.4% ลดลงจาก 12.9% จากการหดตัวของสินเชื่อรถยนต์และการชะลอตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดี