posttoday

สนช.มีมติเห็นชอบหลักการร่างกม.ค้ำประกัน

12 กุมภาพันธ์ 2558

สนช.เห็นชอบหลักการ แก้ไขร่างกม.ค้ำประกัน อุดช่องโหว่เดิ แต่ห่วงลักลั่นเวลาบังคับใช้ ด้าน หม่อมอุ๋ยแจงบังคับใช้ย้อนหลังถึง 11 ก.พ.

สนช.เห็นชอบหลักการ แก้ไขร่างกม.ค้ำประกัน อุดช่องโหว่เดิ แต่ห่วงลักลั่นเวลาบังคับใช้ ด้าน หม่อมอุ๋ยแจงบังคับใช้ย้อนหลังถึง 11 ก.พ.

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 182 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เห็นชอบในหลักการวาระ1  ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีเนื้อหาที่มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับค้ำประกันและจำนอง ฉบับที่ 20 ซึ่ง สนช.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.เป็นต้นมา โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายฉบับนี้  โดยระบุว่า เพื่อให้มีความเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน  สมควรกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ รวมทั้งสามารถทำข้อตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ หากเป็นสถาบันการเงินหรือประกอบอาชีพค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล สามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม และไม่มีสิทธิดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690  ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันตามมาตรา 686 เป็นโมฆะ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ทำสัญญายกเว้นบทบัญญัติดังกล่าว และแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหน้าที่กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และมีการชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงลดหนี้นั้น

นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ และกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็น สัญญาค้ำประกันต่างหากได้ รวม ทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันร่างกฎ หมายมีผลใช้บังคับเพื่อมิให้มีผล กระทบต่อสัญญาที่กำไว้ก่อนดังกล่าว และกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 691 วรรคหนึ่งแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีเจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันเป็นการลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย

ด้าน นายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิก สนช. ได้อภิปรายว่า จากที่ สนช. ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20 ) ซึ่งได้ประกาศใช้ โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หากแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในครั้งนี้ และจะมีผลบังคับใช้ต่อไปในอนาคต อาจจะเกิดความลักลั่น ไม่เป็นธรรมต่อผู้ค้ำประกัน เนื่องจากวันบังคับใช้ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้น อยากทราบว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร

นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า  ในมาตรา 681วรรค 2 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้วงเงินค้ำประกันสูงสุดจากเดิมที่ไม่จำเป็นต้องระบุ อาจจะทำให้เจ้าหนี้ระบุวงเงินค้ำประกันสูงสุดที่เกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งไม่ธรรมต่อผู้ค้ำประกันได้ นอกจากนี้ ในมาตรา 686 วรรค 3 กำหนดทางเลือกให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องชำระหนี้ 2 ทางเลือก คือชำระทั้งหมดและชำระต่อเนื่องตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติตามหลักสากล อาจจะทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20 ) ซึ่งมีการประกาศใช้ในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 และให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และผ่านมาไม่นาน ก็ต้องแก้ไขฉบับนี้ เป็นการแก้ไขฉบับที่ 21 โดยมีการแก้ไขใน 5 ประเด็น ต้องเป็นความรับชอบส่วนหนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนั้น จะต้องเร่งพิจารณาโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันมีการดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากรอดูความชัดเจนของกฎหมายดังกล่าว จึงเห็นว่าทาง สนช.ควรพิจารณากฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว 

จากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้ชี้แจงว่า ตามที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องระบุวงเงินค้ำประกันสูงสุด เนื่องจากบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้ความเสียหาย จากวงเงินกู้รวมกับดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จึงเห็นควรกำหนดวงเงินสูงสุด แต่หากผู้ค้ำประกันเห็นว่า ตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไปก็ไม่จำเป็นต้องเซ็นค้ำประกันได้ อีกทั้ง การเปิดทางเลือกให้ชำระหนี้ได้ 2 ทาง ทั้งการชำระทั้งหมดและชำระตามเงื่อนไข เช่น หากสัญญากู้เงิน 5 ปี เริ่มผิดชำระหนี้ในปีที่ 2 ผู้ค้ำประกัน สามารถเลือกชำระได้ ทั้งชำระครั้งเดียวทั้งหมด หรือชำระเป็นงวดในปีที่ 3 - 5 ตามเงื่อนไขสัญญาเดิม เพื่อให้สัญญาเดินต่อไปได้ เป็นทางเลือกที่จะให้ประโยชน์กับผู้ค้ำประกัน แม้จะไม่สอดรับกับต่างประเทศก็ตาม ส่วนระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายที่ห่วงว่าจะลักลั่นนั้นในร่างกฎหมายใหม่จะระบุให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงวันที่ 11 ก.พ. 2558 ดังนั้นจึงจะไม่มีปัญหาเรื่องการลักลั่น