posttoday

ออมสินผวาปล่อยกู้ยางหวั่นลูกหนี้ทำผิดเงื่อนไข

06 ธันวาคม 2557

ออมสินร้อนตัวรายงานรัฐบาลปล่อยกู้ยางไม่ออก เล็งขอแยกบัญชีชดเชยความเสียหาย

ออมสินร้อนตัวรายงานรัฐบาลปล่อยกู้ยางไม่ออก เล็งขอแยกบัญชีชดเชยความเสียหาย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารธนาคารออมสินได้เข้าชี้แจงต่อตัวแทนรัฐบาลถึงสาเหตุที่ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทตามนโยบายรัฐบาลได้ จนทำให้มีผู้ร้องเรียนต่อกระทรวงอุตสาหกรรมจำนวนมาก

ทั้งนี้ ผู้บริหารธนาคารออมสินชี้แจงว่า ผู้ประกอบการที่ยื่นขอสินเชื่อส่วนใหญ่มีคุณสมบัติไม่ครบ เมื่อนำรายชื่อตรวจกับเครดิตบูโรพบว่ามีประวัติเป็นหนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ บางรายขอกู้เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ยังขอกู้เงินเพื่อนำไปซื้อที่ดิน โดยชี้แจงว่าต้องการขยายกำลังผลิต รวมทั้งขอเงินที่เป็นทุนหมุนเวียนอีกด้วย ซึ่งผิดเงื่อนไขที่รัฐบาลระบุ

"มีผู้ประกอบการมายื่นเอกสารขอสินเชื่อแล้วประมาณ 20 ราย มียอดสินเชื่อที่ขอมาตั้งแต่หลักไม่ถึง 10 ล้านบาท ไปจนถึง 4,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการตรวจเอกสารหลักฐานพบว่ามีลูกหนี้ที่ผ่านเกณฑ์ปล่อยกู้ได้อยู่เพียง 2-3 รายเท่านั้น" แหล่งข่าวเปิดเผย

นอกจากนี้ รัฐบาลจะชดเชยความเสี่ยงที่ธนาคารออมสินได้รับให้เฉพาะดอกเบี้ย ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารเป็นผู้แบกรับภาระเอง ดังนั้นการพิจารณาปล่อยสินเชื่อจึงต้องทำบนหลักการปล่อยสินเชื่อตามมาตรฐานของลูกค้าทั่วไป

ดังนั้น จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลช่วยชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อแล้วกลายเป็นหนี้เสีย แยกระดับการชดเชยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ เพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบก็จะต้องเสนอปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศประสบปัญหาเครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เป็นเครื่องจักรเก่าและล้าสมัย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำ รวมทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและลงทุนสูง

สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งจากน้ำยางข้นและยางแห้ง ที่ใช้ยางพาราในประเทศ เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม ต้องจดทะเบียนในไทย มีผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว