posttoday

ธกส.แก้หนี้นอกระบบแล้วกว่าครึ่ง

09 มิถุนายน 2553

ธ.ก.ส. เดินหน้าเร่งสางปัญหาหนี้สินนอกระบบ เผยยอดผู้ขึ้นทะเบียนกว่า 6 แสนราย เจรจาประนอมหนี้สำเร็จกว่าครึ่ง อนุมัติเงินกู้แล้วกว่า 8 พันล้านบาท

ธ.ก.ส. เดินหน้าเร่งสางปัญหาหนี้สินนอกระบบ เผยยอดผู้ขึ้นทะเบียนกว่า 6 แสนราย เจรจาประนอมหนี้สำเร็จกว่าครึ่ง อนุมัติเงินกู้แล้วกว่า 8 พันล้านบาท

นายบุญไทย แก้วขันตี ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ วันที่ 7 มิ.ย.2553 สามารถเจรจาประนอมหนี้ได้สำเร็จจำนวน 3.55 แสนราย คิดเป็น 58.47% เจรจาไม่สำเร็จจำนวน 3.34 หมื่นราย คิดเป็น 5.66% จากจำนวนผู้ที่ขึ้นทะเบียนที่ ธ.ก.ส.ได้รับมอบหมายให้ดูแล จำนวนทั้งสิ้น 6.08 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 6.45 หมื่นล้านบาท

โดยมีผู้ที่เจรจาประนอมหนี้สำเร็จและประสงค์จะกู้เงินกับ ธ.ก.ส. จำนวน 3.5 แสนราย มูลหนี้ 4.22 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 1.2 แสนราย จำนวนเงินกู้ 8,427 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ที่มาของรายได้ ผู้ค้ำประกันและรายละเอียดด้านสัญญา เป็นต้น และอยู่ระหว่างติดต่อขอรับผลการเจรจาประนอมหนี้จากคณะกรรมการเจรจาระดับอำเภอจำนวน 1.02 แสนราย คิดเป็น 16.80%

ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนการดำเนินงานในกรณีที่ผู้ขึ้นทะเบียนมีภาระหนี้นอกระบบไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. กำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินงานให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พ.ค.นั้น มีการเจรจาสำเร็จ 8.49 หมื่นราย คิดเป็น 49.86% ของลูกหนี้ที่มีหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ทั้งสิ้นจำนวนกว่า 1.7 แสนราย มูลหนี้  6,413 ล้านบาท

ในจำนวนผู้ที่เจรจาสำเร็จ มีผู้ประสงค์กู้เงิน 8.18  หมื่นราย โดยได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 6.7 หมื่นราย วงเงิน 3,002 ล้านบาท เจรจาไม่สำเร็จ 2.55 หมื่นราย คิดเป็น 15.02% ขอยุติเรื่อง 5.98 หมื่นราย คิดเป็น 35.12% ทั้งนี้ ในกระบวนการเจรจาประนอมหนี้ ธ.ก.ส.ได้มีหนังสือเชิญลูกหนี้นัดให้พาเจ้าหนี้มาเจรจาส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจำนวน 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มาตามที่นัดหมาย ซึ่งในส่วนนี้หากมีการติดต่อภายหลัง ธ.ก.ส. จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป

"จากลูกหนี้กว่า 6 แสนราย ธนาคารเข้าไปพบปะเจรจาประนอมหนี้แล้วกว่า 5 แสนราย คิดเป็น 83.2% เหลืออีก 16.8% จะเร่งดำเนินการภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งหากลูกหนี้ไม่ได้ไปรับจ้างทำงานในต่างประเทศก็น่าจะติดต่อได้ตามเป้า ส่วนลูกหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ไปเจอลูกค้ากว่า 96% แล้ว ที่เหลือก็จะเร่งทำต่อในเดือน มิ.ย.นี้ รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วเป็นหนี้รายละ 1.5 แสนบาท" นายบุญไทย กล่าว

นายบุญไทย กล่าวว่า ในภาพรวมปัญหาการเจรจาไม่สำเร็จนั้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ขึ้นทะเบียนหรือเจ้าหนี้ไม่มาเจรจาประนอมหนี้ เจ้าหนี้ให้บุคคลอื่นมาแทน ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ เจ้าหนี้ประสงค์ในทรัพย์ของลูกหนี้ เป็นต้น โดยจากจำนวนลูกหนี้ทั้งหมดที่ผ่านกระบวนการเจรจาแล้ว พบว่ามีขอยุติเรื่อง จำนวน 1.16 แสนราย คิดเป็น 19.07% เนื่องจากความเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลจะชำระหนี้แทน หรือไม่ก็มีการชำระหนี้กันเสร็จสิ้นแล้ว หรือเป็นหนี้กับญาติจึงไม่ประสงค์จะกู้ธนาคารและเป็นหนี้ในระบบอยู่แล้ว เช่น หนี้สหกรณ์ เป็นต้น

"ในส่วนลูกหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีผู้ไม่ประสงค์ขอกู้กว่า 3,000 ราย แม้เจรจาแล้ว เพราะบางรายมีการชำระหนี้ไปบางส่วน เนื่องจากวงเงินไม่สูง หรือบางรายอาจหันไปกู้แหล่งเงินอื่นที่ดอกเบี้ยถูกกว่า เช่น ธนาคารชุมชน เป็นต้น หรืออาจจะได้เงินจากญาติพี่น้องไปใช้หนี้แล้ว นอกจากนี้ มีลูกหนี้บางส่วนไม่มีหลักประกัน ขณะนี้กำลังเจรจากับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันให้ ซึ่งสำหรับผู้มีหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีกว่า 2,000 ราย ภาพรวมมีกว่า 3,000 ราย ขณะที่ลูกหนี้บางส่วนที่มีรายได้ไม่เพียงพอชำระหนี้ในแต่ละงวดตามที่ ธ.ก.ส.กำหนดระยะเวลาชำระไว้ 12 ปี ซึ่งธนาคารจะขออนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร เพื่อให้ขยายระยะเวลาชำระให้ต่อไป" นายบุญไทย กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเจ้าหน้าบางส่วนกว่า 10 ราย ที่ประสงค์จะได้ทรัพย์ของลูกหนี้ ซึ่งทางธนาคารจะรายงานรัฐบาลเพื่อหามาตรการอื่นในการเข้าไปดูแลต่อไป

นายบุญไทย กล่าวด้วยว่า ธ.ก.ส. จะดำเนินการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพให้กับผู้ขึ้นทะเบียนที่ได้รับการโอนหนี้เข้าสู่ระบบ เพื่อปรับทัศนคติการดำเนินชีวิตและพัฒนาความรู้ในการประกอบอาชีพให้มีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่มั่นคง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยปัจจุบันได้ประสานงานกับเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ในการใช้เป็นสถานที่ฝึก อบรมฟื้นฟูจำนวน 261 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ  ประกอบด้วย หลักสูตรวิถีชีวิต หลักสูตรวิถีทำกิน และ การรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้เพื่อส่งเสริมการออม เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าปีนี้จะมีการอบรมประมาณ 3 แสนราย มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 900 ล้านบาท หรือ 3,000 บาทต่อราย