posttoday

ทีเอ็มบีหั่นจีดีพีเหลือ 2%

16 พฤษภาคม 2557

ศูนยวิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หั่นประมาณการเศรษฐกิจปีนี้จาก 2.9% เหลือ 2% เหตุการเมืองบั่นทอนการใช้จ่ายและการลงทุน แต่หากไม่มีรัฐบาลปีนี้จีดีพีอาจลดต่ำลงอีก

ศูนยวิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หั่นประมาณการเศรษฐกิจปีนี้จาก 2.9% เหลือ 2% เหตุการเมืองบั่นทอนการใช้จ่ายและการลงทุน แต่หากไม่มีรัฐบาลปีนี้จีดีพีอาจลดต่ำลงอีก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) รายงานว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2557 หลายตัวบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลง 1.4% ในเดือนมีนาคม หรือดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวถึง 6.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการชะลอการลงทุนออกไปก่อนของภาคธุรกิจ


ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี จึงปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.0% หรือลดลงมาเกือบ 1% จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยองค์ประกอบสำคัญของจีดีพีที่หน่วงการขยายตัวคือ การลงทุนซึ่งน่าจะหดตัวกว่า 5% ในขณะที่การส่งออกเองก็อาจไม่ออกมาดีอย่างที่หลายฝ่ายคาด จากข้อจำกัดบางประการ อาทิ ปัญหาส่งออกกุ้งจากโรคตายด่วน  ราคาสินค้าเกษตรลดลง ซ้ำเติมกลไกภาครัฐที่ยังปฏิบัติการได้ไม่เต็มที่จากการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมสะดุดลง

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันที่ 19 พ.ค.นี้ จีดีพีไตรมาสแรกน่าจะหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 1.7% แต่ส่วนความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ จีดีพีหดตัวติดต่อกันสองไตรมาสนั้น มีความเป็นไปได้ต่ำ เพราะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังดี ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นบ้างแต่ยังไม่น่ากังวล ดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเอื้อต่อผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว อยู่บนสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ในช่วงไตรมาสสามของปี แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในปีนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น ทำให้อาจเติบโตไม่ถึง 2% ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

"จริงอยู่ที่เศรษฐกิจไทยนั้นเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสองของปี 2556 ก่อนที่การชุมนุมทางการเมืองจะเริ่มต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การชะลอตัวดังกล่าว ลากยาว แทนที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจตามปกติ ซึ่งถ้าพิจารณาตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่งแล้ว เราไม่ควรเห็นภาวะซบเซาข้ามปีเช่นนี้" ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ อาจจะหดตัวราว 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ กดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซาลงมากกว่าในช่วงปลายปีอย่างเห็นได้ชัด แต่เชื่อว่า ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเป็นบวกเนื่องจากฐานต่ำ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่เกิน 1% ส่วนทั้งปียังประเมินเศรษฐกิจขยายตัวที่ 1.8% ภายใต้กรอบ 1.3-2.4% โดยมีสถานการณ์การเมืองเป็นตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ สศช. จะเผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1 ปี 2557 และแนวโน้ม จีดีพี ตลอดปี 2557 ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ และจะมีผลเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุน เพราะเป็นไตรมาสแรกที่ได้เห็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างสมบูรณ์