posttoday

โต้งห่วงรายได้รัฐต่ำกว่าเป้าชี้การเมืองยื้อกระทบศก.

23 เมษายน 2557

กิตติรัตน์ยอมรับกังวลรัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่กระทบขาดดุลงบประมาณ ชี้การเมืองยืดเยื้อกระทบศก.

กิตติรัตน์ยอมรับกังวลรัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่กระทบขาดดุลงบประมาณ ชี้การเมืองยืดเยื้อกระทบศก.

เมื่อวันที่ 23  เม.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมติดตามการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายของประเทศ โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นางเบญจา หลุ่ยเจริญ รักษาการรมช.คลัง กรมสสรพากร กรรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เข้าร่วมภายหลังการประชุม

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในวันที่ 24 เม.ย. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะมีการรายงานตัวเลขผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2557 อย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นพบว่า ในช่วง 6 เดือน การจัดเก็บรายได้ของประเทศ อยู่ที่ 1.11ล้านล้านบาท เมื่อหักเงินที่จะจ่ายคืนภาษี และสนุบสนุนองค์กรท้องถิ่นแล้ว จะมียอดเงินรายได้สุทธิอยู่ที่ ประมาณ 9.3 แสนล้านบาท  ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล เพราะว่าน้อยกว่าเป้าหมายจัดเก็บรายได้ 2 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีส่งผลกระทบต่อการขาดดุลงบประมาณแต่อย่างใดทั้งนี้ ผลที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ลง สาเหตุมาจากผลพวงทางการเมือง เพราะพบว่า การจัดเก็บรายได้ทุกประเทศลดลง โดยเฉพาะการจัดเก็บเงินรายได้บุคคลธรรมดา ที่แม้จะมีการลดฐานภาษี แต่รายได้ของประชาชนไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้

ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้การยื่นแบบ ยังไม่สิ้นสุดก็มีสัญญาณลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การเมืองไทยยังผันผวน แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service หรือ มูดี้ส์ ไม่ปรับลดอันดับลง โดยยังคงยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ระดับ Baa1  เพราะความแข็งแกร่งทางสถานการณ์เงินที่แข็งแกร่งของรัฐบาล และ ประเทศ แต่โอกาสที่จะปรับอันดับให้ดีขึ้นในช่วง 12 - 18 เดือน คงเป็นไปได้ยาก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ จึงหวังสถานการณ์การเมืองคลี่คลายโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

นายกิตติรัตน์ ยังได้ชี้ให้ให้ที่ประชุมได้ทราบว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อก็จะส่งผลต่อการใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคเอกชน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งหวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยุติโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น 

นายกิตติรัตน์ ยังย้ำว่า ประเทศไทยไม่มีภาวะงบประมาณหยุดชะงัก เหมือนต่างประเทศ แม้จะอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ แต่การเบิกจ่ายอาจจะเป็นไปอย่างล่าช้า เท่านั้น

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอของบกลาง 4 หมื่นล้านบาท เพื่อมาจ่ายหนี้ให้กับชาวนาว่า เป็นตัวเลขที่สูง และกระทรวงพาณิชย์ ต้องจ่ายงบกลางที่กู้ยืมไปก่อนหน้านี้สำหรับการจัดเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ที่จะกรอบเวลาพระราชกฤษฎีกาจะหมดลงสิ้นเดือนกันยายนนี้ 

ทั้งนี้รัฐบาลรักษาการจะทำหน้าที่ในการพิจารณาอย่างรอบคอบ และคำนวนภาษีให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ว่าจะคงอยู่ที่ร้อยละ 7 หรือเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 10 โดยจะต้องนำเรื่อง เสนอ กกต.  แต่ยังไม่มีความชัดเจนจะปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 10 หรือไม่ โดยจะนำเข้า ครม.เมื่อไหร่รก็ขอดูความชัดเจน