posttoday

กนง.มีมติ6ต่อ1คงดอกเบี้ยที่2%

23 เมษายน 2557

กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ชี้นโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ชี้นโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุมกนง. วันนี้ ประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่ภาวะการเงินไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายในประเทศ และนโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย กนง.จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00 % ต่อปี

อย่างไรก็ดี มีกนง. 1 เสียงเห็นควรว่า ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%  เพื่อความต่อเนื่องของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

“ประเมินรอบนี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกน่าจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาส 2 ปีนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุดหรือยัง ไม่มีใครบอกได้ เพราะมีปัญหาจัยความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก แต่เรามั่นใจว่าดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ 2% ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อรักษาแรงสนับสนุนต่อเศรษฐกิจให้เพียงพอ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม

สำหรับ ประเด็นสำคัญ ที่กนง.พิจารณาในการประชุมครั้งนี้ เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การส่งออกสินค้าค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ไม่สามารถชดเชยการหดตัวได้ในระยะต่อไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการเมืองเป็นสำคัญ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตํ่ากว่าประมาณการเดิม และมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออก สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้

ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง โดยเศรษฐกิจจีนชะลอลงจากการลงทุนและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากภาคการเงิน ด้านเศรษฐกิจเอเชียอุปสงค์ในประเทศชะลอลง ขณะที่การส่งออกได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักชัดเจนขึ้น