posttoday

คลังดื้อลุยกู้"กบข.-วายุภักษ์"

24 กุมภาพันธ์ 2557

คลังลืมตาย เดินหน้าลุยไฟกู้ “กบข.-วายุภักษ์” จ่ายจำนำข้าว ตั้งเป้า 5 หมื่นล้านบาท “สมบัติ” ยันไม่ใช่ทางเลือก

คลังลืมตาย เดินหน้าลุยไฟกู้ “กบข.-วายุภักษ์” จ่ายจำนำข้าว ตั้งเป้า 5 หมื่นล้านบาท “สมบัติ” ยันไม่ใช่ทางเลือก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ยังเดินหน้าหาแหล่งเงินเพื่อนำมาจ่ายให้ชาวนาที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำข้าวตามที่รับปากชาวนาไว้ นอกเหนือจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายให้ประชาชนทั่ว ซึ่งสำเร็จได้ยากเพราะคาดว่าประชาชนอาจไม่มั่นใจจนไม่ซื้อพันธบัตร

ทั้งนี้ จึงมีการสั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังเดินหน้าออกพันธบัตรกู้เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) อีกครั้งในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิก กบข.อย่างหนักก็ตาม โดยนางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการ รมช.คลัง ได้เรียกนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธาน กบข. หารือเรื่องดังกล่าว และมีความพยายามที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการ กบข. เพื่ออนุมัติให้เร็วที่สุด

“รัฐบาลไม่มีทางเลือกและพยายามที่จะให้นำเงินจาก กบข.มาจ่ายจำนำข้าว แม้ว่าจะรู้ว่าจะถูกประท้วงจากสมาชิกของ กบข.อย่างหนัก”แหล่งข่าวเปิดเผย

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ยังได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ศึกษาแนวทางการขายพันธบัตรให้กองทุนวายุภักษ์ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกองทุนเปิดและคลังถือหุ้น 100% ว่าทำได้หรือไม่ เพื่อสำรองไว้หากขายพันธบัตร 5 หมื่นล้านบาท ให้ กบข.ไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การให้กองทุนวายุภักษ์มาซื้อพันธบัตรยังต้องศึกษาข้อกฎหมายว่า ทำได้หรือไม่ เพราะการที่คลังออกพันธบัตรขายให้กองทุนวายุภักษ์ถือคลังถือหุ้น 100% เท่ากับย้ายเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา รวมทั้งคลังต้องขายหุ้นจำนวนมาก เพื่อให้มีเงินมาซื้อพันธบัตร 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นที่ถูกขายและจะฉุดให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์โดยรวมลดลงมาก

ขณะเดียวกัน ต้องศึกษาว่าเมื่อคลังออกพันธบัตรขายให้ กบข. หรือกองทุนวายุภักษ์แล้ว จะส่งเงินที่ได้มาให้ ธ.ก.ส.ไปจ่ายจำนำข้าวได้หรือไม่ เพราะมติ ครม.กำหนดให้คลังค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. และยังมีปัญหาการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) และมาตรการ 181(4) ได้ ในฐานะที่เป็นรัฐบาลรักษาการ

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า หากมีการให้ กบข.ซื้อพันธบัตร 5 หมื่นล้านบาทจริง คงต้องพิจารณาความเสี่ยงด้านกฎหมายด้วยความรอบคอบ แต่เชื่อว่า กบข.ไม่น่าจะเป็นตัวเลือกเพื่อระดมทุนของภาครัฐ เพราะ กบข.มีเงินหมุนเวียนเพียงเดือนละ 1,000 ล้านบาท ไม่เหมาะกับการระดมเงินก้อนใหญ่