posttoday

"โต้ง"โต้"อุ๋ย"โยนฝ่ายค้านก่อวิกฤตการเมือง

06 กุมภาพันธ์ 2557

กิตติรัตน์ ทำจดหมายเปิดผนึกตอบโต้ "หม่อมอุ๋ย" แจงยิบจำนำข้าว-โซลาร์เซล ชี้เรียกร้องนายกฯลาออก เป็นการขัดหลักประชาธิปไตย

กิตติรัตน์ ทำจดหมายเปิดผนึกตอบโต้ "หม่อมอุ๋ย" แจงยิบจำนำข้าว-โซลาร์เซล ชี้เรียกร้องนายกฯลาออก เป็นการขัดหลักประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ทำจดหมายเปิดผนึกถึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรมว.คลัง และเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ซึ่งตอบโต้กรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ลาออกจากรัฐบาลรักษาการ เพราะนโยบายของรัฐบาลทั้งการจำนำข้าวและปรับโครงสร้างพลังงานล้มเหลว สร้างความเสียหายแก่ประเทศ

นายกิตติรัตน์ ชี้แจงข้อกล่าวหาของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา 4 ฤดูกาล รัฐบาลสามารถจ่ายเงินให้แก่ชาวนาได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นเงินกว่า 6 แสนล้านบาท กระทั่งถึงฤดูกาลนาปี 2556/2557 ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 56 ก็ยังจ่ายเงินให้ชาวนาได้รวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ล่าช้า แต่เพราะสถานการณ์การเมืองที่เกิดจากฝ่ายค้าน โดยทำให้การอนุมัติใช้งบประมาณประจำปีล่าช้า การบุกยึดกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ และ ส.ส. ฝ่ายค้านลาออกยกพรรค ซึ่งนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายในการจัดหาเงินเพิ่มขึ้น และมีขบวนการในการข่มขู่ทั้งสถาบันการเงินและส่วนราชการที่ทำให้การจัดหาเงินมีความล่าช้าแต่กระทรวงการคลังยังคงเดินหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและรอบคอบ

"ต่อประเด็นที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรฯ ยกเรื่องคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว มากล่าวหา นั้นไม่เป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรฯ รวมทั้งกลุ่มผู้โจมตีโครงการนี้มิได้พูดถึงเลย คือ มูลค่าของข้าวที่อยู่ในสต๊อก ซึ่งมีมูลค่าอยู่ในตัวเอง รวมทั้งส่วนต่างที่ขาดหายไปนั้นแท้จริงแล้วอยู่ในมือชาวนา" นายกิตติรัตน์ ระบุ

ส่วนนโยบายพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานโซลาร์เซล นั้น มีกระบวนการเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยเฉพาะขั้นตอนการออกใบอนุญาต รง.4 ซึ่งรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือน ต.ค. 56 ก็พยายามแก้ไขการออกใบอนุญาตด้วยการขอยกเว้นจากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งก็มีขั้นตอนกฎหมายและกฎระเบียบหลายฉบับ ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

สำหรับประเด็นการปฏิรูปประเทศ ต้องทำความเข้าใจว่า การปฏิรูปการเมือง สามารถดำเนินการคู่ขนานพร้อมไปกับการเลือกตั้ง โดยที่ไม่ต้อง “แช่แข็งประเทศ” เพราะจำเป็นต้องมีรัฐบาลบริหารราชการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และในตอนนี้ ประเทศไทยได้ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง จากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งเกือบ90% ที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงกว่า 20 ล้านคน แม้ว่าหลายพื้นที่ที่ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้ แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุด กกต. ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมจะร่วมมือกันช่วยประคับประคองรักษาระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้จนครบทุกเขต

"การที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรฯ ยังยึดติดอยู่กับประเด็นเดิม ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับผู้ชุมนุมในลักษณะที่คล้ายจะเป็นแนวร่วม ด้วยท่าทีที่สิ้นหวังต่อระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนนั้น ไม่ต่างจากการไม่ให้ความเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนทั้ง 20 ล้านคนที่ออกมาเลือกตั้ง ที่อดทนและยืนหยัดอยู่ข้างหลักการประชาธิปไตย"

ทั้งนี้ การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อเปิดทางให้มีคนกลางปฏิรูปประเทศ เป็นการละเลยการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่การดำรงอยู่ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เป็นหลักประกันของการคงอยู่ซึ่งวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมโลกว่าประเทศไทยมีระบอบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็ง พลเมืองมีความเท่าเทียมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีความอดทนพร้อมที่จะพัฒนาการเมือง การปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อ่านฉบับเต็มได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=591989094219598&set=a.541141105971064.1073741828.515190241899484&type=1&theater