posttoday

6ประเทศลุ่มน้ำโขงเห็นชอบแผนพัฒนาร่วมกัน

12 ธันวาคม 2556

ที่ประชุม 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงระดับรัฐมนตรี เห็นชอบกรอบการลงทุนในอนุภูมิภาค ยกระดับแผนพัฒนาร่วมกัน การค้า การลงทุน คมนาคม ท่องเที่ยว

ที่ประชุม 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงระดับรัฐมนตรี เห็นชอบกรอบการลงทุนในอนุภูมิภาค ยกระดับแผนพัฒนาร่วมกัน การค้า การลงทุน คมนาคม ท่องเที่ยว

การประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 19 ของแผนงาน GMS ได้จัดขึ้น ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2556 โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยแทนนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS ของไทย ในการประชุมฯ ดังกล่าว ร่วมกับรัฐมนตรีของอีก 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ H.E. Sun Chanthol รัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS และ ASEAN ของกัมพูชา H.E. Shi Yaobin รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน H.E. Noulinh Sinbandhit รัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS ของสปป,ลาว H.E. Lei Lei Thein รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า และ H.E. Nguyen The Phoung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ของเวียดนาม

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (Regional Investment Framework: RIF) โดยในสาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการรับทราบผลดำเนินงานสำคัญของ GMS ภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 18 ได้แก่ พิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ในวันที่ 11 ธันวาคม 2556 ส่งผลให้การเชื่อมต่อกันตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และการร่วมลงนาม MOU จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งสมาคมการรถไฟของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Railway Association: GMRA) และ (2) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลต่อการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (The Establishment of the Regional Power Coordination Center: RPCC)

นอกจากนี้ การดำเนินงานแปลงแผนสู่การปฏิบัติของ (1) แผนงานสนับสนุนหลักด้านการเกษตรในระยะที่ 2 (2) แผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดทำแนวเชื่อมต่อเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ (3) กรอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (2556-2560) และที่ประชุมฯ รับทราบกิจกรรมความร่วมมือใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนระหว่างจีนและเวียดนาม การเริ่มดำเนินการของกลุ่มทำงานด้านการพัฒนาเมือง รวมทั้งมุ่งเน้นอำนวยความสะดวกคมนาคมขนส่งและการค้าตามแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจและพื้นที่ส่วนต่อขยาย และการขยายขอบเขตการครอบคลุมการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างประเทศสมาชิกอีกด้วย

รัฐมนตรี GMS ยังได้ให้ความเห็นชอบต่อการจัดทำกรอบการลงทุนในภูมิภาค (RIF) โดยโครงการที่นำเสนอภายใต้ RIF นั้น มีความแตกต่างจากโครงการตามแผนงาน GMS ในรูปแบบเดิมอย่างชัดเจน เช่น สาขาคมนาคม เพิ่มความสำคัญของการขนส่งระบบรางเพื่อประโยชน์ด้านประสิทธิภาพและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โครงการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ศูนย์โลจิสติกส์ และอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดน สาขาพลังงาน เน้นการพัฒนาตลาดพลังงานของอนุภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ความสำคัญกับการเพิ่มใช้เครื่องมือทางด้าน ICT เพื่อสนับสนุนการพัฒนามากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

สาขาท่องเที่ยว เน้นการส่งเสริมให้อนุภูมิภาคเป็นจุดหมายปลายทางเดียวของอนุภูมิภาค มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สาขาเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความท้าทายใหม่ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ HIV/AIDS

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญสูงต่อการพัฒนากฎระเบียบและการนำไปสู่การปฏิบัติของการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางกายภาพอย่างแท้จริง RIF ยังประกอบไปด้วยโครงการหลากหลายสาขาซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแปลงเปลี่ยนจากระเบียงคมนาคมขนส่งไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจต่อไป

รัฐมนตรี GMS ยังได้รับทราบและให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินงานในระยะต่อไปของการจัดทำกรอบการลงทุนในภูมิภาค (RIF) เช่น การทบทวนอย่างสม่ำเสมอ การจัดลำดับความสำคัญในระยะห้าปี การระดมเงินทุน การผลักดันเข้าสู่วาระการบูรณาการทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ความสำคัญของการแปลงเปลี่ยนจากระเบียงคมนาคมขนส่งไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจ และการให้เวที ECF ขยายบทบาทในการหารือประเด็นด้านการค้าและการลงทุน

รัฐมนตรี GMS ได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (RIF) โดยในภาพรวมประกอบด้วย 10 สาขา 215 แผนงาน มูลค่ารวม 53.1 พันล้านสรอ. (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ประกอบด้วยโครงการลงทุน 136 โครงการ มูลค่า 52,848 ล้านสรอ. และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ 79 โครงการ มูลค่า 210.1 ล้านสรอ. ได้แก่ สาขาคมนาคม สาขาพลังงาน สาขาเกษตร สาขาสิ่งแวดล้อม สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาขาการพัฒนาเมือง สาขาท่องเที่ยว สาขาการอำนวยความสะดวกทางคมนาคมและการค้า สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาขาความร่วมมืออื่นๆ โดยแผนงานด้านคมนาคมยังคงเป็นส่วนสำคัญของกรอบ RIF อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มการลงทุนที่สูงขึ้นในสาขาความร่วมมือใหม่ ได้แก่ การพัฒนาสู่ความเป็นเมือง ICT และความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย กรอบการลงทุน RIF จะประกอบด้วยโครงการลงทุนและโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 76 โครงการ มูลค่ารวม 1,960.9 ล้านสรอ. (3.7% ๓.๗ ของโครงการ RIF ทั้งหมด) ซึ่งไทยมีส่วนร่วมในแผนงานด้านคมนาคมมากที่สุด (มูลค่า 1,036.9 ล้านสรอ.) รองลงมาคือด้านพลังงาน (มูลค่ารวม 306.8 ล้านสรอ.) ด้านสิ่งแวดล้อม (มูลค่ารวม 245.3 ล้านสรอ.) และด้านเกษตร (มูลค่ารวม 212.2 ล้านสรอ.) ตามลำดับ