posttoday

จับตาศก.พม่าขยายตัวสูงหลังเปิดประเทศ

11 ธันวาคม 2556

บทบาท “เจ้าภาพซีเกมส์” และภารกิจ “ประธานอาเซียน” ดันเศรษฐกิจพม่าขยายตัวสูง อานิสงส์ส่งออกไทย

บทบาท “เจ้าภาพซีเกมส์” และภารกิจ “ประธานอาเซียน” ดันเศรษฐกิจพม่าขยายตัวสูง อานิสงส์ส่งออกไทย

ปี 2556 นับเป็นปีที่พม่ามีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศหลายด้านหลากมิติ โดยหนึ่งในพัฒนาการที่น่าสนใจคือ พม่าได้รับโอกาสการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเวทีการประชุมเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างการประชุม World Economic Forum on East Asia (วันที่ 5-7 มิถุนายน 2556) รวมถึงเวทีสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นส่งท้ายปี 2556 นี้คือ พม่าได้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 (The 27th Southeast Asian Games 2013 หรือ SEA Games 2013) ระหว่างวันที่ 11-22 ธันวาคม 2556 หรือ “11-12-13” ตามหลักสากล โดยจะมีการเปิดงานอย่างเป็นทางการ ณ กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า และจะเป็นสถานที่แข่งขันหลักร่วมกับเมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์  ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีเปิดตัวและแนะนำพม่าสู่สายตานานาชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่พม่าเริ่มทยอยเปิดประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้:

SEA Games 2013 ที่ม่า...หนุนท่องเที่ยวโต คาดดันจีดีพีพม่าขยายตัว 6.8%

การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 ที่จัดขึ้นในพม่า นับเป็นไฮไลท์สำคัญของภาคการท่องเที่ยวของพม่าส่งท้ายปี 2556 นี้ และเป็นอีกหนึ่งแรงเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าให้แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเมื่อมองถึงบทบาทของภาคการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจพม่าก็นับว่ามีความน่าสนใจมิใช่น้อย โดยสัดส่วนของรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ไหลเข้าสู่ประเทศพม่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากราวร้อยละ 0.53 ของ GDP ในปี 2551 เป็นร้อยละ 0.97 ของ GDP ในปี  2555 แม้ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ ไทยซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ 7.3 ของ GDP กระนั้นก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ารายได้ภาคการท่องเที่ยวของพม่ามีอัตราเร่งตัวสูง ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากจังหวะเวลาที่พม่าเริ่มเปิดประเทศ ดังนั้น หากในระยะข้างหน้า พม่าพัฒนาประเทศและก้าวสู่การยอมรับในระดับสากลมากขึ้นเป็นลำดับ ก็ย่อมช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและหนุนภาพการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในพม่าได้อย่างมาก สำหรับผลพวงทางเศรษฐกิจจากการที่พม่าเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

--> ซีเกมส์หนุนโค้งสุดท้าย...คาดดันนักท่องเที่ยวในพม่าปี’56 ลุ้นแตะ 1.35 ล้านคน

จับตาศก.พม่าขยายตัวสูงหลังเปิดประเทศ

ตลาดท่องเที่ยวในพม่า มีทิศทางเติบโตต่อเนื่องเป็นลำดับ จากปัจจัยหนุนด้านบรรยากาศการเปิดประเทศที่ดึงดูดชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำความรู้จักพม่ามากขึ้น ประกอบกับทางการพม่าได้ผ่อนคลายระเบียบในการขออนุญาตเดินทางเข้าพม่าให้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยการ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพม่ามีทั้งที่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว วีซ่าธุรกิจ และวีซ่าประเภทอื่นๆ ซึ่งวีซ่านักท่องเที่ยวมีสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในพม่าโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว มีทั้งสิ้น 354,720 คน เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 28.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สำหรับในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี อันเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว High-season ของพม่า (ปกติช่วง High-season ของพม่าอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์) และยังมีไฮไลท์สำคัญจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในเดือนธันวาคมนี้ด้วย ทั้งยังมีแรงหนุนจากการปรับระเบียบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางจากไทยเข้าสู่พม่าสามารถใช้วีซ่าผ่านด่านพรมแดนไทย-พม่าได้โดยตรง รวม 6 ด่าน (ได้แก่ ด่านทางอากาศผ่านท่าอากาศยาน 3 แห่ง คือ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ และด่านทางบกคือ ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ด่านแม่สอด-เมียวดี และด่านระนอง-เกาะสอง) จากเดิมที่ใช้ได้เพียงช่องทางเดียวคือท่าอากาศยานที่ย่างกุ้งเท่านั้น ดังนั้น ด้วยบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดึงดูดและนโยบายที่เอื้อต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นดังกล่าว น่าจะเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเยือนพม่าเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วง High-season ปกติ

ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทั้งปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพม่าอาจมีโอกาสลุ้นแตะ 1.35 ล้านคน จาก 1.06 ล้านคนในปี 2555 และสร้างรายได้ในภาคการท่องเที่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 534 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2555 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในเรื่องที่พักโดยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากภาวะขาดแคลนจำนวนโรงแรมและที่พักที่แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ยังคงไม่สามารถรองรับความต้องการที่พุ่งสูงได้อย่างเพียงพอ ในขณะที่ทิศทางตลาดท่องเที่ยวในพม่าในระยะข้างหน้าน่าจะมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องและอาจเข้าใกล้เป้าหมาย (กรณีพื้นฐาน) ที่ 1.82 ล้านคนในปี 2558 และ 3.68 ล้านคนในปี 2563 ตามแผนแม่บทภาคการท่องเที่ยวของพม่า ปี 2556-2563

จับตาศก.พม่าขยายตัวสูงหลังเปิดประเทศ

--> อานิสงส์ซีเกมส์...หนุนเศรษฐกิจพม่าเติบโตรอบด้าน

การเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ปี 2556 นับเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างเร่งด่วนและท้าทายสำหรับพม่าที่เพิ่งจะเปิดประเทศและเดินหน้าพัฒนาประเทศไม่นานนัก และอาจกล่าวได้ว่า ซีเกมส์เป็นเสมือนตัวเร่งให้พม่าพัฒนาประเทศรอบด้าน เพราะไม่เพียงแต่ความพร้อมในแง่ของสถานที่เพื่อใช้ในการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงโครงสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศ  สถานที่พักและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาชมการแข่งขันฯ รวมถึงธุรกิจบริการด้านอื่นที่เกี่ยวโยงถึงการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติที่จะเข้ามาขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับพม่าในระยะข้างหน้าด้วย ทั้งนี้ ภาพที่เกิดขึ้นในปี 2556 พอที่จะสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของพม่าได้ระดับนึง อาทิ

- ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวมีบทบาทดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าเด่นชัดขึ้น โดย FDI ในสาขานี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.3 ของ FDI สะสมในพม่า (ระหว่างปี 2534-2555) มาเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.2 ของ FDI สะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556

- โรงแรมและห้องพักได้รับการเติมเต็มอย่างรวดเร็ว โดยจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาเติมเต็มความต้องการในภาคการท่องเที่ยวของพม่า ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐที่ต้องการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนโรงแรมที่พักในตลาดท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้ในปี 2556 มีโรงแรมที่จะจัดตั้งเพิ่มขึ้น 56 แห่ง ด้วยจำนวนห้องพักรวม 4,473 ห้อง โดยส่วนใหญ่จะตั้งขึ้นในพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ กรุงเนปิดอว์ (31 แห่ง/ 2,830 ห้อง) อินเล (13 แห่ง/ 705 ห้อง) ย่างกุ้ง (5 แห่ง/ 628 ห้อง) และอื่นๆ อีก 7 แห่ง/310 ห้อง (ข้อมูลจากกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวของพม่า ณ สิงหาคม 2556) ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะส่งผลให้ปี 2556 พม่ามีโรงแรมรวม 843 แห่ง ห้องพักรวม 32,764 ห้อง

- การพัฒนาความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ นอกเหนือจากเส้นทางคมนาคมที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว ช่องทางการเดินทางเข้าสู่พม่าก็ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ทั้งการพัฒนาสนามบิย่างกุ้งเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นเป็น 5.4 ล้านคนภายในปี 2558 (จาก 2.7 ล้านคนในปัจจุบัน) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติ Hanthawaddy ในเมืองพะโค ให้แล้วเสร็จในปี 2559 โดยคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 12 ล้านคนพัฒนา รวมไปถึงการอนุญาตสายการบินระหว่างประเทศเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 13 เส้นทาง เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงดังกล่าวข้างต้นแล้ว เศรษฐกิจพม่ายังมีปัจจัยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ไหลเข้าพม่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ที่เร่งตัวขึ้นรวดเร็วถึง 2.3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 2,242 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งภาคการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีก็ขยายตัวแข็งแกร่งที่ร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการยกเลิกและผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าจากหลายประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่มีความเคลื่อนไหวในเชิงการปฏิรูปประเทศ  ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของพม่าในปีงบประมาณ 2556 น่าจะเติบโตได้ในระดับที่แข็งแกร่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.8 และคาดว่าจะรักษาระดับการเติบโตได้ต่อเนื่องใกล้เคียงร้อยละ 7 ต่อปีในปี 2557

เศรษฐกิจพม่าที่มีภาพการเติบโตแข็งแกร่งช่วยเอื้ออานิสงส์ให้การส่งออกของไทยไปพม่าเติบโตแข็งแกร่งตามไปด้วย ล่าสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2556 ไทยส่งออกไปพม่าเป็นมูลค่า 3,111 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยอัตราขยายตัวแข็งแกร่งที่ร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทำให้พม่าเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 17 ของไทยด้วยส่วนแบ่งถึงร้อยละ 1.62 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วงดังกล่าว (จากร้อยละ 1.36 ในปี 2555) โดยช่องทางการค้าชายแดนเป็นช่องทางหลักของการส่งออกของไทยด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของการส่งออกของไทยไปพม่า โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้ารองรับภาคการผลิต ซึ่งสอดคล้องตามความต้องการของกิจกรรมเศรษฐกิจในพม่าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญ 10 รายการแรก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปูนซิเมนต์ เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน เครื่องสำอาง/สบู่/ผลิตภัณฑ์รักษาผิว และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี/อาหารสำเร็จรูป  โดยกลุ่มนี้ครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าส่งออกไทยไปพม่า ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2556 การส่งออกไทยไปพม่าน่าจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 25 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องราวร้อยละ 20-28 ในปี 2557

ส่งท้ายปี’56 ด้วยบทบาท “เจ้าภาพซีเกมส์” ...รับปี’57 ด้วยบทบาท “ประธานอาเซียน”

หลังเสร็จสิ้นภารกิจการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในปี 2556 นี้ พม่าได้ก้าวเข้าสู่อีกภารกิจสำคัญในปี 2557 คือ ภารกิจในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พม่าจะรับบทบาทดังกล่าวนับตั้งแต่ก้าวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 2540 (การเป็นประธานอาเซียนจะหมุนเวียนกันไปในแต่ละประเทศสมาชิกโดยเรียงตามชื่อประเทศในลำดับอักษรภาษาอังกฤษ ซึ่งพม่าเคยอยู่ในวาระหมุนเวียนเป็นประธานอาเซียนในปี 2552 แต่ได้ยกเลิกวาระนั้นไป) ซึ่งบทบาทการเป็นประธานอาเซียนนับเป็นบทบาทที่ค่อนข้างท้าทายพอสมควร นอกเหนือจาก พม่าจะต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับการประชุมที่จะถูกจัดขึ้นมากกว่า 1,000 รายการ ทั้งความพร้อมด้านสถานที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรให้เพียงพอ  พม่าคงต้องเตรียมความพร้อมเชิงนโยบาย ทั้งประเด็นด้านแนวนโยบายและทิศทางการปฏิรูปประเทศ การสานสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ล้วนเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ นอกจากนี้ ด้วยกรอบแนวทางผลักดันใน ASEAN Summit 2014 คือ “Moving forward in unity, towards a peaceful and prosperous community” ซึ่งเน้นเจตนารมณ์ในการสร้างความเป็นเอกภาพและความสงบสุขในประชาคม นับเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากคงต้องยอมรับว่าพม่ายังอยู่ในระหว่างพัฒนาประเทศให้มีความเป็นเสรียิ่งขึ้นและยังมีประเด็นอ่อนไหวในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและชนกลุ่มน้อยในประเทศ