posttoday

ธุรกิจประกันชีวิตเหนื่อยบุกตลาดCLMV

16 พฤศจิกายน 2556

ธุรกิจประกันชีวิตไทย ท้าทายบุกตลาดประเทศกลุ่ม CLMV ท่ามกลางการเปิดเสรีอาเซียน

ธุรกิจประกันชีวิตไทย ท้าทายบุกตลาดประเทศกลุ่ม CLMV ท่ามกลางการเปิดเสรีอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตท่ามกลางกระแสการเปิดเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้น แม้ว่าไทยจะยังไม่ได้ผูกพันการเปิดเสรีภาคบริการด้านการเงินที่ชัดเจน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้ให้บริการในธุรกิจการเงินของไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนในการทำความเข้าใจและศึกษาถึงตลาดประเทศสมาชิกอื่นๆ เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต

ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจประกันชีวิตนั้น จุดสนใจของผู้ประกอบการไทยน่าจะอยู่ที่ตลาดในกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (กลุ่มประเทศ CLMV) เนื่องจากมีจุดเด่นที่พื้นที่ชายแดนที่ติดกับไทย ประกอบกับขนาดของตลาดประกันชีวิตและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาและเติบโตต่อเนื่อง คงเป็นโอกาสที่ธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมองเห็นโอกาสของการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในกลุ่มประเทศ CLMV แต่การเข้าไปขยายตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ของผู้ประกอบการไทย ยังคงมีอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่ท้าท้ายหลายประการ เช่น สภาพแวดล้อมการแข่งขัน ความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การขาดความพร้อมของตลาดเงินตลาดทุน และการขาดนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตไทยจึงคงต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบระหว่างความคุ้มค่าจากการเข้าบุกตลาดก่อนผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อโอกาสทางการเติบโตในอนาคต กับอุปสรรคที่จะต้องเผชิญ ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนการประกอบธุรกิจ รวมถึงมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรในระยะยาว

ตลาดประกันชีวิตที่มีขนาดเล็กและการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย

จากสถิติของธุรกิจประกันชีวิตในกลุ่มประเทศ CLMV ไม่ว่าในมิติของจำนวนเบี้ยประกันต่อหัวประชากร หรือในมิติของมูลค่าเบี้ยประกันต่อ GDP ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนว่า ตลาดประกันชีวิตในกลุ่ม CLMV ยังมีขนาดเล็กมาก และคงมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้สามารถรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อันส่งผลต่อการขยายตัวของชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจประกันชีวิต ก็คงช่วยกระตุ้นอุปสงค์ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ หากพิจารณาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงและสม่ำเสมอ รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้อย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ซึ่งนับว่าการเข้าไปขยายตลาดประกันชีวิตในกลุ่มประเทศ CLMV น่าจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย

ธุรกิจประกันชีวิตเหนื่อยบุกตลาดCLMV

 

ธุรกิจประกันชีวิตเหนื่อยบุกตลาดCLMV

ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การรุกตลาด CLMV ของผู้ประกอบการไทยเป็นไปในกรอบที่จำกัด แม้ว่ากฎหมายในประเทศปลายทางดูเหมือนจะเอื้อต่อผู้ประกอบการต่างชาติ

การเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศกลุ่ม CLMV ของบริษัทประกันชีวิตต่างชาติในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นบริษัทประกันชีวิตต่างชาติรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและเทคโนโลยี หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นการเข้าร่วมทุนกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการไทยนั้น ปัจจุบันมีเพียงรายเดียวที่มีการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเข้าร่วมทุนกับรัฐบาลกัมพูชา อนึ่ง การที่ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการบุกตลาด CLMV แม้ว่าจะเห็นโอกาสและประโยชน์ทางธุรกิจในอนาคต ก็น่าจะมาจากอุปสรรคและปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมปัจจัยที่คาดว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายธุรกิจประกันชีวิตในกลุ่มประเทศ CLMV ดังนี้

- สภาพแวดล้อมการแข่งขัน อาจจำกัดการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการต่างชาติรายใหม่

หากพิจารณาหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทต่างชาติในกลุ่มประเทศ CLMV พบว่า ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนได้  ทั้งในลักษณะของการเข้าร่วมทุนกับบริษัทประกันชีวิตท้องถิ่น หรือการจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศนั้นๆ รวมถึงในกรณีของเวียดนามยังสามารถเข้าไปตั้งสาขาหรือตั้งสำนักตัวแทนได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบริษัทประกันต่างชาติที่ดำเนินการอยู่แล้วในประเทศดังกล่าว ดำเนินธุรกิจในลักษณะร่วมทุนกับภาครัฐ และ/หรือเป็นบริษัทประกันระดับโลก รวมถึงมีการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในท้องถิ่นเพื่อเจาะตลาดประกันผ่านช่องทางการขายผ่านธนาคาร (Bancassurance)  ดังนั้น จึงอาจเป็นอีกโจทย์สำคัญที่บริษัทประกันชีวิตของไทยอาจต้องขบคิด หากจะเจาะตลาดประกันในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว

- โครงสร้างตลาดเงินและตลาดทุนยังไม่สามารถรองรับธุรกิจประกันชีวิต รวมถึงประชาชนมีการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินในระดับต่ำ

การที่กลุ่มประเทศ CLMV ยังไม่มีความพร้อมทางด้านตลาดเงินและตลาดทุนที่จะรองรับการลงทุนในตราสารทางการเงินของบริษัทประกันชีวิต ก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายธุรกิจประกันชีวิตเข้าไปในกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยหากพิจารณาตลาดพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศ CLMV พบว่า แม้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะมีการออกพันธบัตร แต่ก็เป็นตราสารที่มีความเสี่ยงสูงและปริมาณตราสารที่ออกใหม่ก็ไม่มากพอที่จะสร้าง Benchmark ในตลาด เช่น พันธบัตรรัฐบาลของประเทศพม่าและลาวนั้นยังไม่มีการถูกจัดอันดับเครดิต ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลของกัมพูชาและเวียดนามถูกจัดอันดับเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับเครดิต  ให้อยู่ในประเภทที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากภาวะการคลังของประเทศดังกล่าวยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก นอกจากนี้ แม้ว่าบริษัทประกันชีวิตจะสามารถรับความเสี่ยงนั้นได้ ก็ยังมีความท้าทายในด้านการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนซึ่งอาจได้รับผลตอบแทนที่ไม่จูงใจ หากเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูงมาก เช่นประเทศเวียดนาม

จะเห็นได้ว่า การขาดการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนในประเทศกลุ่ม CLMV นี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่บริษัทประกันชีวิตไทยที่ต้องการเข้าไปขยายตลาดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะถึงแม้ว่าจะมีบริษัทประกันชีวิตต่างชาติเริ่มเข้าไปบุกตลาดเหล่านี้แล้ว แต่บริษัทต่างชาติเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนสูงประกอบกับมีระบบการจัดการและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ซึ่งน่าจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูงกว่าบริษัทประกันท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก ดังนั้น หากบริษัทประกันชีวิตในไทยจะเข้าไปประกอบการในประเทศเหล่านี้บ้าง คงต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยศึกษาถึงเกณฑ์การลงทุนในประเทศนั้นๆ ให้ชัดเจนและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลงทุนในประเทศนั้นๆด้วย   

นอกจากนี้ การที่ประชาชนไม่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการออมและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิตในกลุ่มประเทศ CLMV โดยหากพิจารณาจากข้อมูลเงินฝากต่อจีดีพี โดยถือว่าเงินฝากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินขั้นพื้นฐานที่ประชาชนเลือกเพื่อวัตถุประสงค์ในการออม จะเห็นว่าประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ยังมีสัดส่วนเงินฝากต่อจีดีพีค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบประเทศไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย

- ภาครัฐยังขาดนโยบายเฉพาะเจาะจงที่จะจูงใจให้ประชาชนซื้อประกันชีวิต

แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐของประเทศในกลุ่ม CLMV ได้เริ่มมีการจัดทำแผนและกลยุทธ์เพื่อพัฒนาระบบการเงินของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปิดเสรีของประชาคมอาเซียน ซึ่งแผนดังกล่าวรวมถึงการพัฒนาธุรกิจประกันด้วย อย่างไรก็ตาม ความพยายามของภาครัฐดังกล่าว ถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะยังเน้นไปที่การพัฒนาหลักเกณฑ์ต่างๆในภาพกว้าง และไม่มีนโยบายที่เฉพาะเจาะจงในการสร้างจูงใจให้ประชาชนในการซื้อประกันชีวิต เช่น การให้นำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนในประเทศไทย ซึ่งการขาดนโยบายลักษณะเช่นนี้ อาจทำให้ธุรกิจประกันชีวิตที่นอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว อาจยังต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์การเงินอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอีกด้วย

ธุรกิจประกันชีวิตเหนื่อยบุกตลาดCLMV

กล่าวโดยสรุป ท่ามกลางกฎหมายที่ดูเหมือนจะเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตต่างชาติในกลุ่มประเทศ CLMV ตลาดประกันชีวิตในกลุ่มประเทศ CLMV ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและถือเป็นโอกาสให้บริษัทประกันชีวิตไทยที่มีความพร้อมในการรุกเข้าไปขยายตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจประกันชีวิตบริษัทแม่ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทประกันชีวิตสัญชาติไทยเพียงน้อยรายที่เข้าไปประกอบธุรกิจในตลาดประกันชีวิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะในด้านตลาดทุนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตโดยรวม

ทั้งนี้ บริษัทประกันชีวิตไทยคงต้องพิจารณาถึงประโยชน์และต้นทุนของการลงทุนขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งการเข้าไปในตลาดเป็นรายแรกๆ ย่อมนำมาซึ่งโอกาสที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ แต่ก็ต้องแลกกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ค่อนข้างสูงในช่วงแรกของการดำเนินงาน ท่ามกลางอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม หากบริษัทประกันชีวิตไทยต้องการจะขยายตลาดไปในประเทศกลุ่มนี้ คงต้องเตรียมความพร้อม พิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ ติดตามความเคลื่อนไหวของพัฒนาการต่างๆในประเทศเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ และชั่งน้ำหนักถึงโอกาสที่มีกับความท้าทายที่ต้องเผชิญ เพื่อหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าไปขยายตลาดเพื่อต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ ท่ามกลางการเปิดเสรีภาคบริการทางการเงินของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน